เรียบเรียงโดยJoh Burut

บทความนี้ต่อเนื่องมาจากบทความเรื่อง เทอร์โบ : กังหันจอมพลัง...สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านเรื่อง เทอร์โบ : กังหันจอมพลังผมอยากให้เข้าไปอ่านคร่าวๆ ก่อนนะครับ เพราะถ้าจะอ่านบทความนี้...ต้องเข้าใจหน้าที่และหลักการทำงานของ อินเตอร์คูลเลอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของเครื่องยนต์เทอร์โบ

อินเตอร์คูลเลอร์ เป็น อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ชนิดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าแลกเปลี่ยนความร้อนระหว่างอากาศเย็น (อากาศจากภายนอก) กับ อากาศร้อน (ไอดีที่ถูกคอมเพรสเซอร์อัด) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ ไอดีมีอุณหภูมิต่ำลงมากที่สุด แล้วจึงป้อนให้กับเครื่องยนต์เพื่อทำการสันดาปต่อไป

บทความแนะนำ :ศึกแห่งบูสต์ : เทอร์โบ ปะทะ ซุปเปอร์ชาร์จเจอร์

สำหรับสาวก เครื่องยนต์เทอร์โบแล้ว แน่นอนว่าเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง มันก็ต้องมีอารมณ์คันไม้คันมืออยากจะเพิ่ม บูสต์ อีกสักนิดเพื่อเรียกฝูงม้าอีกสักหน่อย แต่สิ่งที่ได้มาพร้อมฝูงม้านั้น ก็คือ ความร้อน และกลายเป็นว่าเราต้องเฝ้าดูอุณหภูมิน้ำตลอดเวลา ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดไม่ใช่น้อย แล้ว...จะทำยังไงดี

 

เปลี่ยนอินเตอร์อะลูมิเนียมสักใบ...ก็ดูเข้าท่าแฮะ

ว่าแต่...จะติดอินเตอร์ที่ไหนดี

ผมเคยได้ยินหลายคนบอกว่า... อินเตอร์น่ะ...ติดตรงไหนก็ติดไปเหอะ ขอแค่เป็น อินเตอร์ยี่ห้อดีๆ ก็พอแล้ว ใครก็ตามที่พูดแบบนี้ เค้าคนนั้น... แพ้ ตั้งแต่ยังไม่แข่งแล้วครับ...

จริงอยู่...ที่ว่า ประสิทธิภาพ ของการถ่ายเทความร้อนจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของอินเตอร์คูลเลอร์เป็นสำคัญ ...คำว่า คุณภาพ ที่ผมพูดถึงนี้ หมายถึงวัสดุที่ใช้ผลิตและการออกแบบ ครีบระบายความร้อน อย่างไรก็ตาม...เชื่อหรือไม่ว่า ตำแหน่ง ของการติดตั้งอินเตอร์ก็มีผลกับสมรรถนะของเครื่องยนต์อย่างมหาศาล

สำหรับรถยนต์เครื่องเทอร์โบแล้ว ตำแหน่งยอดฮิตของการติดตั้งอินเตอร์คูลเลอร์ก็คงหนีไม่พ้นบริเวณกันชนหน้า (หน้าหม้อน้ำ) ซึ่งการติดตั้งแบบนี้เรียกว่า ฟร็อนท์-เมาท์ (Front-mount) เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่รับลมได้มากที่สุด ตำแหน่งนี้จึงกลายเป็นตำแหน่งพิมพ์นิยมของรถเครื่องเทอร์โบไปโดยปริยาย ตัวอย่างของรถยนต์ที่ติดตั้งอินเตอร์แบบนี้มาตั้งแต่โรงงาน ได้แก่ นิสสัน จีทีอาร์, มิตซุบิชิ แลนเซอร์ อีโวลูชั่น และอื่นๆ อีกมากมาย

บทความแนะนำ ความลับของก็อตซิลล่า : ความลับ 5 ประการของนิสสัน จีทีอาร์

http://zombdrive.com/

นอกจากนั้น ยังมีรถเทอร์โบที่ติดอินเตอร์ไว้ที่ ด้านบน ของเครื่องยนต์ หรือที่เรียกว่า ท็อป-เมาท์ (Top-mount) ตัวอย่างเช่น ซูบารุ อิมเพรซา (Subaru Impreza)รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ-สายพันธุ์แรลลี่จากญี่ปุ่นคันนี้ นอกจากจะใช้เครื่องยนต์เป็นแบบ สูบนอน ที่ไม่เหมือนชาวบ้านเค้าแล้ว ยังจะติดอินเตอร์ไว้ในที่ที่เค้าไม่ติดกันอีก...จะแปลกเกินบ้านเกินเมืองไปละ

บทความแนะนำรู้เฟื่อง-เครื่องสูบนอน : ข้อได้เปรียบ 7 ประการของเครื่องยนต์บ็อกเซอร์

นอกจากการติดตั้งอินเตอร์ที่หน้าเครื่องและบนเครื่องแล้ว ยังมีการติดตั้งอีกประเภทหนึ่ง นั่นก็คือการติดตั้งแบบเอียง หรือที่เรียกว่า วี-เมาท์ นั่นเอง การติดตั้งแบบนี้จะวางอินเตอร์ไว้บริเวณหน้าเครื่องยนต์ แต่สิ่งที่แตกต่างจากประเภทอื่นนั่นก็คือ ตัวอินเตอร์เอง จะถูก วางทำมุม กับกระแสอากาศ

dragonmotorsports.net

แล้ว...อินเตอร์แบบไหนดีสุด

เมื่อนานมาแล้ว...ผมเคยได้ยินมาว่า อินเตอร์คูลเลอร์แบบ วี-เมาท์ เป็นอินเตอร์ที่มีประสิทธิภาพในการระบายความร้อนที่ดีที่สุด แต่คำถามก็คือว่า...ประโยคเมื่อครู่นี้ จะเป็น ความจริง หรือแค่ ความเชื่อ

เพราะฉะนั้น ในบทความนี้...เราจะไปวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ข้อเด่น-ข้อด้อยของอินเตอร์แต่ละแบบ เพื่อหาคำตอบว่า อินเตอร์แบบไหนเป็นอินเตอร์ที่ดีที่สุด จะเป็นอินเตอร์แบบ วี-เมาท์ อย่างที่เค้าพูดกันจริงเหรอ หรือว่าจะเป็นอินเตอร์วางหน้าเครื่องอย่าง ฟร็อนท์-เมาท์ ดูท่าแล้วน่าจะระบายความร้อนได้ดีกว่านะ แต่ก็ไม่แน่นะว่า อาจจะเป็นม้ามืดอย่างอินเตอร์วางบนเครื่องแบบ ท็อป-เมาท์...ก็เป็นได้

เอาล่ะ! ไปเริ่มวิเคราะห์กันเลย...

 

1. อินเตอร์หน้าเครื่อง (Front-mount Intercooler)

อินเตอร์หน้าเครื่อง ก็คืออินเตอร์ที่ติดตั้งไว้บริเวณกันชนหน้า ซึ่งปกติแล้วจะอยู่หน้าแผงหม้อน้ำ(หน้าแผงคอมแอร์ด้วยครับ) และนี่ก็คืออินเตอร์แบบที่เราพบเห็นกันบ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรถเครื่องเทอร์โบจากโรงงาน หรือว่ารถเครื่อง NA ที่มาเซ็ทเทอร์โบเองทีหลัง ร้อยทั้งร้อยก็จะติดอินเตอร์ไว้ที่บริเวณนี้

เนื่องจากว่าอินเตอร์ถูกติดตั้งไว้ที่กันชนหน้า ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า...มันสามารถรับลมได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ข้อดีของอินเตอร์หน้าเครื่องก็คือ เราจะได้อากาศเย็นแบบสุดๆ เพื่อป้อนให้กับเครื่องยนต์ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถสร้างแรงม้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าโดยปกติแล้ว อินเตอร์แบบนี้จะวางไว้หน้าหม้อน้ำ แทนที่หม้อน้ำจะได้ลมเย็นๆ จากอากาศภายนอก กลายเป็นว่าต้องมาเจอกับ ลมร้อน ที่ออกจากอินเตอร์ นั่นทำให้ประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนความร้อนของหม้อน้ำลดลง ส่งผลให้น้ำหล่อเย็นมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

และเนื่องจากอินเตอร์แบบวางหน้าจะต้องต่อท่อจากเทอร์โบฝั่งไอดี อ้อมไปยังอินเตอร์ที่อยู่บริเวณหน้าเครื่อง และวนกลับมาที่เครื่องยนต์อีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น อินเตอร์แบบนี้จะต้องใช้ท่ออากาศที่ยาวมากๆ ส่งผลให้บูสต์เกิดอาการ ดีเลย์ หรือที่เรียกว่า อาการรอรอบ และนี่ก็คืออีกหนึ่งข้อเสียของอินเตอร์แบบ ฟร็อนท์-เมาท์ ครับผม

 

2. อินเตอร์บนเครื่อง (Top-mount Intercooler)

อินเตอร์แบบ ท็อป-เมาท์ จะติดตั้งไว้ที่ด้านบนของเครื่องยนต์ โดยกระแสลมที่ไหลผ่านฝากระโปรงจะถูกบังคับให้ไหลลงมาเป่าอินเตอร์ ซึ่งหน้าที่ของการดักลมนั้นเป็นของอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า ฮูด-สกูป (Hood-scoop) และเจ้า ฮูด-สกูป ก็ได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของรถเทอร์โบที่มีอินเตอร์แบบ ท็อป-เมาท์ ไปโดยปริยาย

สำหรับรถเครื่องเทอร์โบที่ติดตั้งอินเตอร์แบบนี้มาตั้งแต่โรงงาน ก็เห็นจะเป็นราชินีแห่งทางฝุ่น ซูบารุ อิมเพรซซา (Subaru Impreza) ที่ใช้เครื่องยนต์บ็อกเซอร์สูบนอน และขับเคลื่อนสี่ล้อ

เนื่องจากอินเตอร์แบบนี้ วางอยู่บนเครื่องยนต์โดยตรง เพราะฉะนั้น ความยาวของท่อไอดีระหว่างอินเตอร์และเครื่องยนต์จึง สั้นมากๆ ...ทำให้ บูสต์ มาไวกว่าเมื่อเทียบกับอินเตอร์แบบวางหน้า ดังนั้น ข้อได้เปรียบหลักๆ ของอินเตอร์แบบวางบนเครื่อง ก็คือช่วยลดเวลาของการ รอรอบ หรือว่า เทอร์โบ-แล็ก (Turbo-lag)

(สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่รู้จัก เทอร์โบ-แล็ก หรือว่าท่านผู้อ่านที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ แอนติแล็ก-ซิสเต็ม : ปุ้งปั้ง-สนั่น-ลั่นทุ่ง)

ข้อดีข้อที่สองของอินเตอร์แบบนี้ก็ว่า คือว่า...มัน ไม่บัง หม้อน้ำ เนื่องจากกระแสลมที่ไหลเข้าอินเตอร์กับกระแสลมที่ไหลเข้าหม้อน้ำนั้น แยกกัน อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น หม้อน้ำจึงได้รับลมเย็นอย่างเต็มที่

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ว่าอินเตอร์แบบนี้ถูกติดตั้งอยู่ใกล้เครื่องยนต์แบบแนบชิดสนิทเนื้อ เลยกลายเป็นทำให้ตัวอินเตอร์นั้น ได้รับความร้อนจากเครื่องยนต์ไปเต็มๆ โดยเฉพาะการขับขี่ในเมืองที่ความเร็วต่ำๆ นั้น แทนที่อินเตอร์จะทำให้ไอดีเย็นลงกลับกลายเป็นว่าทำให้ร้อนขึ้นก็เป็นไปได้นะครับ

 

3. อินเตอร์วางเอียง (V-mount Intercooler)

อินเตอร์แบบวี-เมาท์ จะติดตั้งไว้บริเวณหน้าเครื่องยนต์เช่นเดียวกับแบบ ฟร็อนท์-เมาท์ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ตัวอินเตอร์จะถูกวางเอียงกับกระแสอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ แยก กระแสอากาศที่ไหลเข้าอินเตอร์กับ กระแสอากาศที่ไหลเข้าหม้อน้ำให้เป็นคนละกระแสกัน พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ให้อินเตอร์มันไปบังหม้อน้ำนั่นแหละครับ

การติดตั้งแบบ วี-เมาท์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ แบบแรกคือ อินเตอร์แบบคว่ำ แบบที่สองคือ อินเตอร์แบบหงาย แบบสุดท้ายคือ อินเตอร์แบบตั้งตรง ซึ่งทั้งสามแบบนี้มีหลักการเหมือนกันทุกประการ และเนื่องจาก อินเตอร์แบบคว่ำ เป็นที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุดและมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจนที่สุด เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ผมจะขอโฟกัสไปที่ อินเตอร์วางคว่ำ แล้วกันนะครับ

เนื่องจากกระแสลมที่มาจากภายนอกจะถูกแบ่งเป็นสองส่วน กระแสแรกจะเข้าสู่หม้อน้ำ ส่วนอีกกระแสหนึ่งจะไหลผ่านอินเตอร์และผ่านฝากระโปรงขึ้นมาด้านบน เพราะฉะนั้น สำหรับการติดตั้งอินเตอร์แบบวี-เมาท์แล้ว(แบบวางคว่ำ) ถ้าจะให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดก็ต้องเจาะรูที่ฝากระโปรงเพื่อให้ลมร้อนไหลออกมาด้วยครับ

driftworks.com

แน่นอนว่าข้อดีข้อแรกของการติดตั้งแบบวี-เมาท์ก็คือว่า มันไม่บังหม้อน้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้หม้อน้ำก็ได้รับลมเย็นไปแบบเต็มสูตร

นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจากอินเตอร์แบบวี-เมาท์ติดตั้งไว้หน้าเครื่องยนต์ ทำให้มันสามารถรับลมได้อย่างเต็มที่ มันจึงสามารถลดอุณหภูมิไอดีได้อย่างมหาศาล ผิดกับอินเตอร์แบบท็อป-เมาท์ ที่ต้องอาศัยฮูด-สกูปเพื่อดักลมลงมาเป่าอินเตอร์ จึงไม่สามารถรับกระแสลมได้อย่างเต็มที่ และด้วยข้อได้เปรียบในการระบายความร้อนของอินเตอร์แบบวี-เมาท์ อินเตอร์แบบนี้จึงเป็นที่นิยมมากกว่า โดยเฉพาะในวงการรถแข่งสมรรถนะสูง

นอกจากนั้น เนื่องจากอินเตอร์แบบวี-เมาท์มีตำแหน่งที่อยู่ใกล้เครื่องยนต์มาก ความยาวของท่อไอดีทั้งฝั่งเข้าอินเตอร์ และออกจากอินเตอร์จึงสั้นมากๆ ส่งผลให้บูสต์มาเร็วกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอินเตอร์แบบฟร็อนท์-เมาท์ ดังนั้น ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของอินเตอร์แบบวี-เมาท์ก็คือ ช่วยลด เทอร์โบ-แล็ก นั่นเองครับ

ดูเผินๆ อาจจะมองว่าอินเตอร์แบบวี-เมาท์มีแต่ ข้อดี นะครับ แต่ทว่า...เหรียญมีสองด้านฉันใด วี-เมาท์ก็มีข้อเสียฉันนั้น โดยข้อจำกัดของอินเตอร์ประเภทนี้ก็คือว่า พื้นที่ในการติดตั้ง ห้องเครื่องต้องมีพื้นที่มากพอที่จะตะแคงอินเตอร์เพื่อทำมุมตั้งแต่ 10-90 องศากับกระแสอากาศ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีพื้นที่เพียงพอล่ะก็ หมดสิทธิ์ครับ!

เอาล่ะ หลังจากที่เราได้ทำการวิเคราะห์จุดเด่นและจุดด้อยของอินเตอร์ทั้ง 3 ประเภทครบเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ เดี๋ยวเรามาสรุปข้อดีและข้อเสียของอินเตอร์แต่ละแบบอีกสักรอบ โดยเครื่องหมาย (+) หมายถึงข้อดี และเครื่องหมาย (-) หมายถึงข้อเสียนะครับ

 

แล้วแบบไหนดีสุด

แน่นอนว่าถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว อินเตอร์แบบ วี-เมาท์ จะมีประสิทธิภาพสูงที่สุดครับ เพราะว่า วี-เมาท์ สามารถดึงเอาจุดเด่นของ ท็อป-เมาท์ (ลดเทอร์โบแล็ก) มาใช้ได้อย่างมีชาญฉลาด และในขณะเดียวกันก็สามารถลดจุดด้อยของ ฟร็อนท์-เมาท์ (ไม่บังหม้อน้ำ) ได้อย่างน่าประทับใจ...วี-เมาท์ จึงกลายเป็นอินเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในบรรดาอินเตอร์ทั้งหมดที่เรานำมาเปรียบเทียบกันวันนี้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงแม้อินเตอร์แบบวี-เมาท์จะมี ประสิทธิภาพสูงที่สุด ก็แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันคืออินเตอร์ที่ ดีที่สุด นะครับ นั่นก็เพราะว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการเลือกอินเตอร์สักใบมาใส่รถเราก็คือ ความเหมาะสมในการใช้งาน

ยกตัวอย่างเช่น สำหรับรถเครื่องเดิม-เทอร์โบเดิม เน้นขับใช้งาน ผมว่าแค่เปลี่ยนอินเตอร์ลูกใหม่ให้ใหญ่ขึ้นอีกนิดก็น่าจะเพียงพอแล้ว ครั้นจะไปรื้อคานหน้า แปลงจุดยึดหม้อน้ำ เพื่อที่จะติดอินเตอร์แบบ วี-เมาท์ มันก็ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นะ เว้นเสียแต่ว่าจะทำรถแข่งลงเซอร์กิต อันนี้ก็เต็มที่เลยครับ

 

อินเตอร์ข้างหม้อน้ำ (Side-mount Intercooler)

นอกจากตำแหน่งของอินเตอร์ทั้ง 3 ตำแหน่งแล้ว ยังมีอินเตอร์อีกแบบที่ผมยังไม่ได้พูดถึงนั่นก็คือ อินเตอร์แบบด้านข้าง หรือที่เรียกว่า Side-mount Intercooler ซึ่งเป็นการติดอินเตอร์ขนาดเล็กไว้ที่ด้านข้างของหม้อน้ำ เหมาะสำหรับเครื่องยนต์ที่มีบูสต์ระดับต่ำไปจนถึงระดับกลาง

ข้อดีของอินเตอร์แบบนี้ก็คือมันไม่บังหม้อน้ำครับ ส่วนข้อเสียก็คือว่า เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ทำให้อินเตอร์มีขนาดเล็กมาๆ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการระบายความร้อนไม่ดีเท่าที่ควร และข้อเสียอีกอย่างก็คือว่า ระยะทางของท่อไอดีที่ต่อจากเทอร์โบมายังอินเตอร์นั้น ค่อนข้างยาวเลยทีเดียว ส่งผลให้เกิด เทอร์โบ-แล็ก เพิ่มขึ้นนั่นเองครับ

สำหรับบทความเรื่อง ตำแหน่งอินเตอร์นั้น สำคัญไฉน ก็ขอจบลงแต่เพียงเท่านี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้-ความเข้าใจในเนื้อหาไม่มากก็น้อย และท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความตอนต่อๆ ไปได้ที่ แฟนเพจของเราเลยครับผม

ขอบคุณค้าบบบ :)

เรียบเรียงโดยJoh Burut

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...