สนับสนุนบทความโดยMotys Oil Thailand

เรียบเรียงโดยJoh BURUT

 

 

ถ้าพูดถึงคำว่า สมรรถนะของรถยนต์ แล้วล่ะก็ ผมเชื่อว่าหลายคนก็จะมุ่งความสนใจไปที่กำลังของเครื่องยนต์ รวมไปถึงทอร์คที่สร้างได้ ด้วยเหตุนี้ อัตราเร่ง 0-100 จึงกลายมาเป็นปัจจัยหลักที่บ่งบอกถึง สมรรถนะ ไปโดยปริยาย เรียกได้ว่า คันไหนที่ทำเวลาได้น้อยที่สุด...ก็จะกลายเป็นรถที่มีสมรรถนะสูงที่สุด

อย่างไรก็ตาม นอกจาก อัตราเร่ง 0-100 แล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญกว่านั้นมาก นั่นก็คือ อัตราเร่งและอัตราหน่วง หรือที่เรียกว่า 0-100-0 (ศูนย์ถึงร้อยถึงศูนย์) ซึ่งหมายถึงการเร่งความเร็วจากจุดหยุดนิ่ง (ความเร็วเป็นศูนย์) หลังจากนั้นก็เร่งความเร็วให้ถึง 100 กม/ชม เมื่อความเร็วถึง 100 แล้ว ก็กดเบรกอย่างทันที เพื่อลดความเร็วให้รถหยุดนิ่งสนิทโดยใช้เวลาน้อยที่สุด

 

 

เพราะฉะนั้น เวลาของการวิ่งแบบ 0-100-0 จึงเป็นตัวแปรที่ใช้วัดสมรรถนะของเครื่องยนต์ บวกกับสมรรถนะของระบบเบรก และเวลาแบบ 0-100-0 นี่แหละครับ ที่บ่งบอกถึง สมรรถนะที่แท้จริง ของรถยนต์คันนั้นๆ เพราะนอกจากรถยนต์จะสามารถ เร่ง ได้เร็วแบบสุดขั้วแล้ว มันก็ต้องสามารถ หยุด ได้เร็วแบบสุดติ่งเหมือนกัน...

 

 

ท่านผู้อ่านเดาถูกแล้วครับ... ในวันนี้ ผมจะพาไปทำความรู้จักกับระบบที่มี ความร้อน เป็นอันดับสองรองจากเครื่องยนต์ นั่นก็คือ ระบบเบรก ...และชิ้นส่วนที่เราจะไปวิเคราะห์เจาะลึกกันนั้น ก็คือ จานเบรก (Brake Rotors) นั่นเองครับ ...เคยมีคนถามผมเข้ามาเยอะว่า ระหว่าง จานเบรกแบบผิวเรียบ (Smooth), จานเบรกเซาะร่อง (Slotted) และจานเบรกเจาะรู (Drilled) ...ในบรรดาจานเบรกทั้ง 3 ประเภทนี้ แบบไหน...มีประสิทธิภาพสูงสุด แบบไหน...สามารถระบายความร้อนได้ดีที่สุด รถซิ่งควรใข้แบบไหน รถแข่งควรใช้แบบไหน คำตอบทั้งหมดนั้น อยู่ในบทความนี้แล้วครับ

 

 

สำหรับบทความนี้ เราก็จะไปวิเคราะห์ข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบของจานเบรกทั้งสามประเภทที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งเนื้อหาที่ท่านผู้อ่านจะได้เสพย์ต่อไปนี้ คือข้อเท็จจริงเชิงวิศวกรรมล้วนๆ ไม่ได้ถูกแต่งเติมเสริมแต่ง เพราะฉะนั้น มั่นใจได้เลยว่า ข้อมูลทั้งหมดในบทความนี้ มีความน่าเชื่อถือเพียงพอและสามารถนำไปศึกษาต่อยอดได้อย่างแน่นอนครับ

เราไปเริ่มวิเคราะห์กันเลยดีกว่า เริ่มกันที่จานเบรกพิมพ์นิยมอย่าง...จานเบรกแบบเรียบ

 

1. จานเบรกแบบเรียบ (Smooth Brake Rotors)

จานเบรกแบบเรียบ คือจานเบรกที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด นั่นก็เพราะว่ารถยนต์ส่วนใหญ่จะได้รับการติดตั้งจานเบรกแบบเรียบมาตั้งแต่โรงงาน เนื่องจากว่ามันมีพื้นผิวเรียบเนียน ทำให้จานเบรกประเภทนี้ มีพื้นที่สัมผัสมากที่สุดในบรรดาจานเบรกทั้งหมด และแน่นอนว่า ด้วยการที่ไม่ได้มีการเจาะหรือเซาะหน้าจาน ทำให้จานเบรกแบบเรียบ มีความแข็งแรงมากที่สุด และสามารถทนต่อความเค้นได้ดีที่สุดนั่นเองครับ และด้วยความที่มันเป็นจานเบรกที่ค่อนข้างอึดและทน ทำให้มันได้รับความนิยมในวงการมอเตอร์สปอร์ตอย่างแพร่หลาย

{googleads center}

ถึงแม้ว่าจานเบรกประเภทนี้จะแข็งแรงที่สุด แต่ทว่ามันไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่ากับจานเบรกเจาะรูและจานเบรกเซาะร่อง นั่นทำให้จานเบรกแบบเรียบ มีอุณหภูมิที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับรถแข่งสมรรถนะสูงแล้ว จะมีการเจาะช่องลมเพื่อระบายความร้อน ซึ่งเป็นการนำอากาศเย็นจากภายนอก เข้ามาหมุนเวียนบริเวณจานเบรกและคาลิปเปอร์ ถือเป็นการลดจุดด้อยเรื่องการระบายความร้อนได้อย่างชาญฉลาด นอกจากนั้นแล้ว เพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ยังต้องอาศัยน้ำมันเบรกคุณภาพสูง รวมไปถึงผ้าเบรกทนความร้อนสูงอีกด้วย

 

จานเบรกแบบเรียบของรถแข่งฟอร์มูล่า

จะมีช่องลำเลียงอากาศมาหล่อเย็นจานเบรกและคาลิปเปอร์

 

ข้อมูลเชิงเทคนิค ของเบรกรถแข่ง F1

 

ข้อเสียอีกหนึ่งประการของจานเบรกประเภทนี้ก็คือว่า มันไม่สามารถระบาย "ฝุ่น" จากผ้าเบรกได้ ...เมื่อใช้ไปนานๆ อาจจะรู้สึกว่า ต้องกดเบรกมากขึ้นเพื่อให้รถหยุด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ฝุ่นที่เกิดจากผ้าเบรกนั้น ไม่ได้ถูกระบายออกจากจานเบรก ซึ่งฝุ่นเหล่านี้จะจับตัวกันเป็นชั้นที่ผิวของผ้าเบรกและจานเบรก อย่างไรก็ตาม เราสามารถลดปริมาณฝุ่นจากเสียดสี ได้โดยการเปลี่ยนไปใช้ผ้าเบรกคุณภาพสูงครับ

 

จานเบรกแบบเรียบของ McLaren P1

 

ข้อเสียอีกอย่างของจานเบรกประเภทนี้ก็คือว่า มัน ไม่สู้น้ำ ครับผม นั่นก็เพราะว่า ขณะการขับขี่บนถนนเปียก ละอองน้ำเม็ดเล็กๆ จะมาเกาะอยู่ที่จานเบรก ซึ่งจะเกิดเป็นชั้นบางๆ กั้นระหว่างจานเบรกกับผ้าเบรก ส่งผลให้สมรรถนะการเบรกลดลงอย่างมาก แต่ในทางตรงกันข้ามแล้ว จานเบรกแบบเซาะร่องและเจาะรูนั้น ละอองน้ำพวกนี้จะถูกระบายออกมาทางรูได้อย่างง่ายดาย เป็นผลให้จานเบรกแบบเจาะรูและเซาะร่องมีสมรรถนะในถนนเปียกที่ดีกว่า

 

2. จานเบรกแบบเจาะรู (Drilled Brake Rotors)

คำถามแรกเลยก็คือว่า รูเหล่านี้มีไว้ทำอะไร ...รูเหล่านี้ มีไว้เพื่อให้ไอร้อนที่เกิดจากการเสียดสีของผ้าเบรกไหลออกไปได้อย่างสะดวก ซึ่งจะช่วยระบายความร้อนให้กับจานเบรก และช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอาการเบรกไม่อยู่ หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ เบรก-เฟด (Brake Fade) หมายถึงสถานการณ์ที่ผ้าเบรกมันร้อนเกิน จนไม่สามารถสร้างแรงเสียดทานได้แล้วครับ

นอกจากนั้นแล้ว รูเหล่านี้ยังมีหน้าที่ระบายฝุ่นจากผ้าเบรก ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ เกิดจากการเสียดสีกันระหว่างผ้าเบรกและจานเบรก ถ้าหากไม่ระบายออกแล้ว มันจะก่อตัวเป็นชั้นฟิล์ม เคลือบอยู่บริเวณผ้าเบรกและจานเบรก ส่งผลให้ประสิทธิภาพของเบรกลดลงอย่างมาก เพราะฉะนั้นแล้ว การระบายฝุ่นออกจากหน้าจานจึงถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของรูขนาดเล็กเหล่านี้ครับ

 

 

แฟชั่นการเจาะรูจานเบรกนั้น เริ่มมาจากวงการมอเตอร์สปอร์ตยุคบุกเบิก สมัยก่อนนั้น วัสดุที่นำมาใช้ทำผ้าเบรกยังมีคุณภาพไม่สูงนัก เมื่อผ้าเบรกสัมผัสกับจานเบรกแล้ว จะเกิดกลุ่มก๊าซและฝุ่นขึ้น ซึ่งก๊าซและฝุ่นเหล่านี้จะเคลือบอยู่ที่ผิวของจานเบรก รถแข่งสมัยก่อนจึงได้ทำการเจาะจานเบรกเพื่อระบายก๊าซและฝุ่นเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบเบรกที่ง่ายและใช้ต้นทุนน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผ้าเบรกในปัจจุบันนี้ มีคุณภาพดีกว่าเมื่อก่อนหลายเท่าตัว กลุ่มก๊าซและฝุ่นที่เกิดขึ้นจึงมีปริมาณน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับผ้าเบรกสมัยก่อน จานเบรกแบบเจาะรูที่เราเห็นกันในปัจจุบัน จึงถูกออกแบบโดยเน้นไปที่ประโยชน์ในเรื่องการระบายความร้อนเสียมากกว่า

 

 

ถึงแม้จะช่วยระบายความร้อนได้ดี แต่จานเบรกเจาะรูก็มีจุดด้อยที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ และจุดอ่อนที่ว่านี้ก็คือ การแตกร้าวเนื่องจากอุณหภูมิ (Thermal Cracking) ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่าง บริเวณที่เจาะรู (เย็นกว่า) และบริเวณที่ไม่ได้เจาะรู (ร้อนกว่า) ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิร้อน-เย็น เป็นตัวการทำให้จานเบรกเกิดการเสียรูป และเกิดรอยร้าวในที่สุด

 

ตัวอย่างการแตกร้าวแบบ Thermal Cracking

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีจุดอ่อนในเรื่อง Thermal Cracking แต่รถยนต์สมรรถนะสูงหลายต่อหลายค่าย ก็ยังคงเลือกใช้จานเบรกประเภทนี้อยู่ เหตุผลน่ะเหรอ... เพราะว่าจานเบรกแบบเจาะรู เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงจิตวิญญาณของมอเตอร์สปอร์ตนั่นเองครับ และสำหรับรถสปอร์ตสมรรถนะสูงเหล่านี้ ก็จะใช้วัสดุเกรดพิเศษเพื่อมาผลิตจานเบรก ดังนั้น จุดด้อยเรื่อง Thermal Cracking จึงไม่ได้กลายมาเป็นปัญหามากเท่าใดนัก

 

3. จานเบรกแบบเซาะร่อง (Slotted Brake Rotors)

จานเบรกประเภทนี้ จะมีการ เซาะร่อง/กัดร่อง ตามแนวรัศมีของจานเบรก โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันกับจานเบรกแบบเจาะรู นั่นก็เพื่อที่จะระบายความร้อน รวมไปถึงลำเลียงเอาฝุ่นและก๊าซที่เกิดจากผ้าเบรก ให้ออกไปจากจานเบรกนั่นเองครับ นอกจากนั้นแล้ว จานเบรกแบบเซาะร่องจะมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าตรงที่ว่า จานเบรกประเภทนี้จะมีพื้นที่สัมผัสมากกว่าแบบเจาะรู ทำให้สามารถสร้างแรงเสียดทานได้มากกว่านั่นเองครับ

 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับจานเบรกแบบเจาะรูแล้ว จานเบรกประเภทนี้จะมีความแข็งแรงกว่า และสามารถทนต่อ Thermal Cracking ได้ดีกว่าจานแบบเจาะรูครับผม เพราะฉะนั้น จานเบรกประเภทนี้ จึงเหมาะที่จะใช้กับพวกรถแข่งสมรรถนะสูง ที่ต้องใช้เบรกอย่างหนักหน่วงตลอดการแข่งขัน

นอกจากนั้นแล้ว ร่องที่ถูกเซาะไว้ จะทำให้ กัด ผ้าเบรกได้ดีขึ้น (เสียดสีกันได้ดีขึ้น) แต่อย่างไรก็ตาม การเสียดสีที่เพิ่มขึ้นนี้ ต้องแลกมากับการสึกหรอที่มากขึ้นของผ้าเบรก หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่าได้ว่า กัดผ้าเบรกได้ ดีขึ้น ...แต่ผ้าเบรกก็จะ หมดเร็วขึ้น นั่นเองครับ

และด้วยเหตุผลที่ว่า จานเบรกประเภทนี้มีความแข็งแรงมากกว่าแบบเจาะรู รวมไปถึงสามารถ กัด ผ้าเบรกได้ดีกว่า ส่งผลให้ระยะเบรกสั้นกว่า ข้อได้เปรียบเหล่านี้ส่งผลให้จานเบรกแบบเซาะร่อง ได้รับความนิยมในวงการมอเตอร์สปอร์ตอย่างมากในปัจจุบัน

 

4. จานเบรกแบบเจาะ+เซาะ

 

จานเบรกแบบนี้ ก็จะเป็นการรวมทั้งข้อดีและข้อเสียของจานเบรกเจารูและเซาะร่องไว้ด้วยกันครับ นั่นก็คือว่า จานเบรกลูกผสมนี้ จะค่อนข้างสะอาดซึ่งเป็นผลมาจากการที่สามารถระบายก๊าซและฝุ่นจากผ้าเบรกได้อย่างรวดเร็ว เมื่อจานสะอาดก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเบรก และเบรกได้อย่างเสถียร

 

 

อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้งานเบรกหนักๆ อย่างเช่นการแข่งขันประเภทเซอร์กิต ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิด Thermal Crack ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีการเจาะรูนั่นเองครับ เพราะฉะนั้นแล้ว จานเบรกประเภทนี้ จึงไม่ได้รับความนิยมในวงการรถแข่งเท่าไหร่นัก แต่มันเหมาะกับรถแต่งที่รับการโมดิฟายมาแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มสมรรถนะการเบรก ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่ม ความคูล ให้กับรถซิ่งสุดรักด้วยเช่นกัน

 

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ เบรก-เฟด (Brake Fade)

อย่างที่ผมได้เกริ่นไปในตอนต้นแล้วว่า ระบบเบรกนั้น เป็นระบบที่มีความร้อนอันดับสองรองจากเครื่องยนต์ ถึงแม้ว่าตัวจานเบรกเองจะสามารถสร้างแรงเสียดทานได้อย่างมากมาย แต่ถ้าไร้ซึ่งการระบายความร้อนที่ดีแล้ว ก็ไม่แคล้วต้องได้พบเจอเหตุการณ์ เบรก-เฟด (Brake Fade) อย่างแน่นอนครับ เพราะฉะนั้น ระบบเบรกที่ดีต้องมีความสมดุลระหว่างการสร้างแรงเสียดทาน (Friction Performance) และการระบายความร้อน (Cooling Efficiency)

 

 

ถ้าพูดถึง เบรก-เฟด แล้ว...มันเกิดขึ้นได้ 2 กรณีด้วยกันครับ กรณีแรกก็คือ เฟดด้วยแรงเสียดทาน (Friction Fade) หมายถึง การที่ผ้าเบรกได้รับความร้อนมากเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถสร้างแรงเสียดทานได้อีกแล้ว (หรือสร้างได้น้อยลง) อีกกรณีหนึ่งก็คือ เฟดเพราะน้ำมันเบรกเดือด (Fluid Fade) ในกรณีที่สองนี้ เกิดจากการที่ระบบเบรกไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ส่งผลให้น้ำมันเบรกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนกระทั่งเกิดการเดือด เราเรียกอาการนี้ว่า เบรกหาย หมายถึงเหยียบเท่าไหร่ รถก็ไม่ยอมหยุด ซึ่งถือเป็นอะไรที่อันตรายมากๆ ครับ

 

 

โซนแนะนำสินค้า Motys Brake Fluid

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะมองว่า อาการเบรก-เฟด นั้น จะเกิดขึ้นกับรถแข่งแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งนั่นคือความเข้าใจที่ผิดนะครับ อาการเบรก-เฟด มีโอกาสเกิดขึ้นกับรถยนต์ทุกคัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถที่มาพร้อมกับระบบดรัมเบรก) ซึ่งจะพบได้ในกรณีการเบรกที่ความเร็วสูง การขับรถบนพื้นที่ลาดชัน (บนภูเขา) รวมไปถึงรถยนต์ที่มีการบรรทุกหนัก ก็ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงที่จะพบเจออาการเบรก-เฟดด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นแล้ว อาการเบรก-เฟด จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยนะครับ

 

วิดีโอ ตัวอย่างของอาการเบรก-เฟด

 

และในวันนี้ ผมก็จะขออนุญาตแนะนำสินค้าอีกหนึ่งตัว นั่นก็คือน้ำมันเบรกจาก Motys ซึ่งเป็นน้ำมันเบรกคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานศูนย์บริการโดยทั่วไป น้ำมันเบรกรุ่น M361 (Super DOT 5.1)มีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถทนความร้อนได้สูงกว่าน้ำมันเบรกปกติ (จุดเดือดอยู่ที่ 270 องศาเซลเซียส) เหมาะสำหรับรถที่ใช้งานระบบเบรกอย่างหนักหน่วง รวมไปถึงการขับรถในเขตภูเขาลาดชันอย่างต่อเนื่อง

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์คือ M362 (Super DOT4)ซึ่งมีจุดเดือดสูงถึง 330 องศาเซลเซียส เหมาะกับรถแต่งที่ต้องการเพิ่มความมั่นใจในการเบรกที่ความเร็วสูง รวมไปถึงรถยนต์ที่มีการบรรทุกอยู่เป็นประจำ และยังสามารถใช้ครอบคลุมไปถึงรถแข่งประเภทเอนดูรานซ์ ที่ต้องใช้งานระเบรกอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา สำหรับท่านใดที่สนใจในผลิตภัณฑ์ของ Motys สามารถสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ แฟนเพจ Motys Thailand

 

บทสรุป

เอาล่ะครับ... หลังจากที่เราได้ไปวิเคราะห์เชิงเทคนิคเกี่ยวกับจานเบรกทั้ง 3 ประเภทเป็นที่เรียบร้อย (จริงๆ แล้วมีทั้งหมด 4 ประเภทครับ) มาถึงย่อหน้านี้ เราก็จะสรุปกันอีกที่ว่า จานเบรกแต่ละประเภทนั้น เหมาะกับรถประเภทไหนบ้าง

สำหรับรถยนต์โมดิฟายสเต็ปพื้นฐานสไตล์ สตรีท ยูส เรียกได้ว่าซิ่งก็ได้ ขับใช้งานก็ดี สามารถเลือกติดตั้งได้ทั้งจานแบบเจาะรูและแบบเซาะร่องเลยครับ ประโยชน์ที่ได้มาแบบเต็มๆ ก็คือ จานเบรกสามารถระบายความร้อนได้เร็วขึ้น และช่วยลำเลียงฝุ่นออกจากจานเบรก ทำให้หน้าจานสะอาดขึ้น เบรกได้เสถียรขึ้น และที่สำคัญก็คือ... มันเท่ห์โคตรๆ!

 

 

แต่ถ้าเน้นวิ่งสนาม โดยเฉพาะการแข่งขันประเภทเซอร์กิตที่ต้องใช้เบรกอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง ก็ขอให้โฟกัสไปที่จานเบรกแบบเซาะร่องจะดีกว่าครับ เหตุผลก็เพราะว่า เบรกแบบเซาะร่องจะสามารถกัดผ้าเบรกได้ดีกว่า ทำให้ระยะเบรกนั้นสั้นกว่า อีกทั้งจานแบบเซาะร่องยังไม่ต้องกังวลในเรื่องของ Thermal Cracking ซึ่งเป็นคำสาปติดตัวของจานเบรกแบบเจาะรู และถึงแม้ว่าจานเบรกแบบเซาะร่องจะกินผ้าเบรก แต่รถแข่งเซอร์กิตพวกนี้ ก็เปลี่ยนผ้าเบรกกันเป็นว่าเล่นอยู่แล้วครับ

โอเคครับผม สำหรับบทความนี้ก็คงต้องขอจบแต่เพียงเท่านี้ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้และสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และถ้าหากท่านผู้อ่านใดมีคำถามเกี่ยวกับระบบเบรก หรือว่าระบบอื่นๆ ก็สามารถส่งมาทาง แฟนเพจ Johs Autolifeได้โดยตรงเลยครับ นอกจากนั้นแล้ว ท่านผู้อ่านยังสามารถติดตามบทความยานยนต์เจาะลึกได้ก่อนใครที่ แฟนเพจ Johs Autolifeเช่นกันเดิมผม

 

สนับสนุนบทความโดย Motys Oil Thailand

เรียบเรียงโดยJoh BURUT

 

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...