ในที่สุด...ฤดูกาลทดสอบรถแข่ง F1 ประจำฤดูกาล 2019 ก็ได้เริ่มขึ้นแล้วนะครับ โดยการทดสอบก่อนเริ่มฤดูกาลแข่งขันในลักษณะนี้จะถูกเรียกว่า WINTER TEST ซึ่งทางผู้จัดการแข่งขันก็ได้จัดให้มีการทดสอบทั้งหมด 2 ครั้ง ได้แก่
WINTER TEST #1 – จัดขึ้นในวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ ที่สนามบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน
WINTER TEST #2 - จัดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม ที่สนามบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เช่นเดิมครับ
การทดสอบนี้มีวัตถุประสงค์หลักๆ สองประการด้วยกัน…
ประการแรกก็คือว่า การทดสอบในครั้งนี้ จะเป็นการ ‘จูน’ รถแข่ง ซึ่งหน้าที่ของการ ‘จูน’ หรือ ‘การปรับแต่ง’ นั้น แน่นอนว่าก็ต้องตกเป็นของวิศวกรของทีมแข่งนั่นเอง โดยระหว่างการทดสอบในช่วง 3-4 วันนี้ ทีมวิศวกรจะมีการเก็บข้อมูลทุกอย่างของรถแข่ง ไม่ว่าจะเป็นแอโรไดนามิคส์, เครื่องยนต์ รวมไปถึงระบบช่วงล่าง ข้อมูลดังกล่าวจะถูกวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน จากนั้นจึงนำไปแก้ไข-และ-พัฒนา เพื่อให้รถแข่งเข้าใกล้คำว่า ‘อุดมคติ’ มากที่สุด
สำหรับวัตถุประสงค์ประการที่สองของ WINTER TEST ก็คือว่า เพื่อให้นักแข่งได้ทำความคุ้นเคยกับตัวรถ แน่นอนว่ารถแข่งของปี 2019 นั้น มีความแตกต่างจากรถแข่งปี 2018 อยู่หลายจุด ทั้งในแง่ของสมรรถนะและมิติของตัวรถ การให้นักแข่งได้สัมผัสและปรับตัวเข้ากับรถแข่งก่อนการแข่งขัน...จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนักแข่งที่มีการเปลี่ยน-ย้ายทีมแข่ง รวมไปถึงนักแข่งที่เพิ่งขยับขึ้นมาขับ F1 ...ยิ่งจะต้องทำความเคยชินและเข้าใจในรถแข่งให้ได้มากที่สุด...ก่อนที่การแข่งขันจะปะทุขึ้นในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
Alexander Albon – นักแข่งสัญชาติไทย
เอาล่ะครับ...เรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า...
หลายคนที่ได้รับชมการวิ่งทดสอบของสุดยอดรถแข่งเหล่านี้ อาจจะสะดุดไปกับสีสัน-และ-ลวดลายของรถแต่ละทีมที่ได้มีการเปลี่ยนโทนสี-และ-กราฟฟิค เรียกได้ว่า แค่ดูรถแข่ง F1 วิ่งทดสอบก็เพลินสุดๆ แล้ว... แต่นอกจากสีสันที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังมีสิ่งที่สะดุดตามากกว่านั้น นั่นก็คือว่า...มีรถแข่งบางคัน ที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์รูปทรงคล้ายตะแกรงขนาดใหญ่ ซึ่งดูเผินๆ แล้วก็เหมือนเสาโทรทัศน์สมัยยุค ’90 ...รถแข่งบางคันก็ติดไว้ด้านหน้า รถแข่งบางคันก็ติดไว้ด้านหลัง ...ว่าแต่ว่า เจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ มันคืออะไร? และมีหน้าที่อะไรกันนะ?
ตะแกรงขนาดใหญ่ที่เราเห็นนั้น ความจริงแล้ว มันเรียกว่า ‘Aero Rakes’ (แอโร เรค) ซึ่งบนตะแกรง (Rake) นั้น จะมีเซ็นเซอร์เอาไว้วัด ‘ความดันอากาศ’ (Stagnation Pressure) ในตะแกรง 1 อัน จะมีเซ็นเซอร์เป็นสิบๆ ตัว ซึ่งเซ็นเซอร์เหล่านี้จะบันทึกค่าความดันของอากาศในขณะรถแข่งวิ่งที่ความเร็วต่างๆ กัน หลังจากนั้น วิศวกรจะเอาค่าที่เซ็นเซอร์แต่ละตัวอ่านได้มาวิเคราะห์ ผลลัพธ์สุดท้าย...จะทำให้เราได้ ‘ค่าการกระจายของความดัน’ (Pressure Distribution) ซึ่งมันคือตัวแปรที่จะบอกเราได้ว่า รถแข่งคันนั้น มีแอโรไดนามิคส์ที่ดีเพียงใด? และเข้าใกล้ตัวเลขที่วิศวกรคำนวณไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่?
หลายๆ ท่านอาจจะอ่านแล้วงงนิดๆ ...เอาเป็นว่า ‘Aero Rakes’ มันมีไว้เพื่อทดสอบแอโรไดนามิคส์ของรถแข่ง F1 นั่นแหละครับ
สำหรับตำแหน่งการติดตั้งนั้น ทีมแข่งจะนิยมติดตั้งในบริเวณต่อไปนี้
1. ตำแหน่งด้านหลังของล้อหน้า
การติดตั้ง ‘Aero Rakes’ บริเวณนี้ จะเป็นการวัดค่าแรงดันอากาศที่เกิดขึ้นด้านหลังล้อหน้า ซึ่งโซนดังกล่าวจะถูกว่า ‘Wake’ หรือ ‘โซนอากาศปั่นป่วน’ โดยกระแสอากาศปั่นป่วนนี้ มีผลอย่างมากต่อแรงต้านอากาศ รวมไปถึงแรงกด (Downforce) ที่สร้างได้ของรถแข่ง
2. ตำแหน่งกลางตัวรถ
การวัดการกระจายแรงดันบริเวณนี้ จะแสดงให้เห็นถึงปริมาณและทิศทางของกระแสอากาศที่กำลังจะไหลเข้าสู่เครื่องยนต์ รวมไปถึงกระแสของอากาศที่จะไหลปะทะกับ ‘หางหลัง’ (Rear Wing)
3. ตำแหน่งท้ายรถ
การติดตั้ง ‘Aero Rakes’ บริเวณท้ายรถ จะทำให้เราทราบถึงกระแสลมที่ไหลผ่าน ‘หางหลัง’ (Rear Wing) รวมไปถึงกระแสลมที่ไหลออกมาจาก ‘ดิฟฟิวเซอร์’ (Diffuser) ที่ถูกติดตั้งไว้ที่ใต้ท้องของรถแข่งด้วยครับ
หลังจากที่เราติดตั้ง ‘Aero Rakes’ เพื่อวิ่งทดสอบ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการปรับตั้งแอโรพาร์ท เพื่อให้รถแข่งเข้าใกล้ค่า ‘อุดมคติ’ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้นั่นเองครับ โดยการปรับตั้งแอโรพาร์ท หรือ ‘จูนแอโรพาร์ท’ ที่ผมพูดถึงนั้น ก็หมายถึงการปรับตั้งองศาของวิงหน้า, วิงหลัง รวมไปถึงดิฟฟิวเซอร์ นั่นแหละครับ
สำหรับบทความนี้ ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อย และท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความอื่นๆ ได้โดยตรงที่ แฟนเพจ Joh’s Autolife ได้เลยครับผม
Source : formula1.com