เรียบเรียงโดยJoh Burut

หลังจากที่ Honda ได้เปิดตัว Honda Ridgeline (ฮอนด้า ริดจ์ไลน์) รุ่นแรกสุดไปเมื่อปี 2004 รถกระบะสายพันธุ์ญี่ปุ่นคันนี้ ก็กลายเป็นที่ฮือฮาในวงการอุตสาหกรรมรถกระบะอย่างทันที แต่ทว่า...สิ่งที่ทำให้ Honda Ridgeline ได้รับความสนใจนั้น ไม่ได้อยู่ที่ดีไซน์การออกแบบ ไม่ได้อยู่ที่สมรรถนะ ...แต่มันอยู่ที่โครงสร้างตัวถังที่เรียกว่า Unibody (ยูนิบอดี้)

2016 Honda Ridgeline

Honda Ridgeline ถูกสร้างขึ้นมาโดยโฟกัสไปที่ลูกค้าในประเทศอเมริกาเป็นหลัก โดยที่ Ridgeline นั้นเป็นรถกระบะที่ใช้พื้นฐานเดียวกับ Honda Pilot (ฮอนด้า ไพล็อท) ซึ่งเป็น SUV ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำตลาดในแดนมะกันตั้งแต่ปี 2003 เพราะฉะนั้น กระบะไฮโซคันนี้จึงมีตัวถังที่เป็นแบบ ยูนิบอดี้ (Unibody) ซึ่งแตกต่างจากรถกระบะทั่วไปที่มี แชสซี (Chassis) เป็นโครงสร้างหลัก

2016 Honda Pilot รถยนต์ SUV ที่ทำตลาดในประเทศอเมริกา

ก่อนจะไปวิเคราะห์ข้อได้เปรียบของตัวถังแต่ละแบบ ผมว่าเรามาทำความรู้จักกับโครงสร้างแต่ละแบบกันสักหน่อยแล้วกัน

โครงสร้างแบบ Unibody

โครงสร้างแบบ Unibody ก็คือบอดี้ที่เกิดขึ้นจากการนำแผ่นเหล็กที่ถูกขึ้นรูปแล้ว มาเชื่อมติดกันให้กลายเป็นรถทั้งคัน ซึ่งบอดี้ประเภทนี้เป็นที่นิยมในการสร้างรถยนต์ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง รวมไปถึงรถ SUV ด้วยครับ เพราะฉะนั้น การที่ Honda ได้นำโครงสร้างตัวถังแบบนี้มาใช้กับรถกระบะ จึงถือเป็นอะไรที่แปลกใหม่สุดๆ เรียกได้ว่า เป็นการฉีกกฏของการออกแบบรถกระบะโดยสิ้นเชิง

โครงสร้างแบบ Body-on-frame

2014 Chevy Silverado

เป็นที่ทราบกับดีอยู่แล้วว่า รถกระบะเกือบจะ 100% ที่มีจำหน่ายอยู่บนโลกใบนี้ จะมีโครงสร้างตัวถังแบบที่เรียกว่า Body-on-frame หรือหมายถึงโครงสร้างที่มี Chassis (แชสซี) นั่นเองครับ โครงสร้างแบบมีแชสซีก็เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของรถยนต์ และด้วยเหตุนี้ ทำให้รถกระบะที่มีแชสซีเป็นโครงสร้างพื้นฐาน มีความสามารถในการบรรทุก รวมไปถึงความสามารถในการลากจูงที่มากกว่ารถทั่วไป

บทความแนะนำ กระบะเล่นลม ตอนที่ 1 : เปิดฝาท้าย...ช่วยลดแรงต้านอากาศ

ตัวถังแบบ Unibody ...มีข้อได้เปรียบอย่างไรบ้าง

เอาล่ะ จากนี้ไปจะเป็นการวิเคราะห์ว่า โครงสร้างแบบ Unibody มีจุดเด่น-จุดด้อยอย่างไรบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างแบบ Body-on-frame โดยเครื่องหมาย (+) หมายถึงข้อดี และเครื่องหมาย (-) หมายถึงข้อเสียนะครับ

(+) น้ำหนักเบากว่า

ตัวถังแบบ Unibody มีน้ำหนักเบากว่าตัวถังแบบ Body-on-frame อยู่พอสมควรเลยครับ ซึ่งข้อได้เปรียบในจุดนี้ จะช่วยเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่โดยรวม เป็นต้นว่า มีอัตราเร่งที่เร็วขึ้น และระยะเบรกที่สั้นลง รวมไปถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ประหยัดขึ้นด้วยครับ

(+) การกระจายแรงประทะในกรณีที่เกิดการชน

โครงสร้างแบบ Unibody สามารถกระจายแรงประทะในกรณีที่เกิดจากการชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ *จากผลวิจัยการทดสอบการชนปรากฏว่า รถยนต์ที่มีบอดี้แบบ Unibody ได้รับคะแนนความปลอดภัยมากกว่ารถยนต์ที่มีแชสซี ทั้งการชนทางด้านหน้าและด้านข้าง

*ผลการวิจัยของ National Highway Traffic Safety Administration compiled ในปี 2005

การทดสอบการชนของ Honda Ridgeline

เหตุผลที่โครงสร้างแบบ Unibody มีความปลอดภัยมากกว่านั้น ก็คือว่า โครงสร้างแบบ Unibody สามารถ กระจายแรงประทะ เพื่อลดความเค้นที่เกิดขึ้นในบริเวณห้องโดยสารให้มีค่าน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายภายในห้องโดยสาร และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่นั่นเองครับ

(-) สมรรถนะในการขับขี่แบบออฟ-โรด

ในหัวข้อนี้ โครงสร้างสุดเก๋าแบบ Body-on-frame ได้เปรียบครับ โดยปกติแล้วการขับขี่แบบลุยป่าฝ่าดงอย่างออฟ-โรดนั้น นอกจากเครื่องยนต์จะต้องสมรรถนะที่เพียงพอแล้ว ความสามารถในการต้านทานการบิด หรือที่เรียกว่า Torsional Rigidity (ทอร์ชันนอล ริจิดีตี) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาอย่างปฏิเสธไม่ได้

สาธิตการบิดของตัวถังระหว่าง Ford กับ Chevy

(Body-on-frame ทั้งคู่ครับ)

รถกระบะที่สามารถใช้งานแบบออฟ-โรคได้ดี ต้องมี Torsional Rigidity ที่มากพอเพื่อต้านทานการบิดของตัวถัง ซึ่งเกิดจากพื้นผิวที่มีระดับไม่เสมอกัน โดยพื้นฐานโครงสร้างแล้ว บอดี้ของรถกระบะที่มีแชสซี จะสามารถต้านทานการบิดได้ดีกว่า เพราะฉะนั้น การขับขี่แบบออฟ-โรด จึงถือเป็น จุดอ่อน สำหรับรถกระบะแบบ Unibody ครับ

(-) ความสามารถในการลากจูง (Towing Capability)

และนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วง นั่นก็คือ สมรรถนะการลากจูง การลากจูงจะสร้างภาระให้กับบอดี้ของตัวรถ ซึ่งแรงที่เกิดขึ้นนี้ ก็คือ แรงดึง (Tensional Force) จะกระทำกับบอดี้รถในแนวแกนหน้า-หลังของตัวรถ

Ford Ranger มีสมรรถนะการลากจูงมากถึง 3.5 ตัน

สำหรับรถกระบะแบบ Body-on-frame นั้น เนื่องจากว่ามีแชสสีที่เป็นเหล็กกล้าคอยรับแรงในแนวแกนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น รถกระบะประเภทนี้จึงสามารถลากจูงน้ำหนักเป็นตันๆ ได้อย่างสบายๆ เลยครับ ไม่ต้องกลัวว่าบอดี้จะฉีก...

ในทางตรงกันข้ามแล้ว รถกระบะประเภท Unibody โดยพื้นฐานแล้วไม่ได้ถูกแบบให้ตัวถังรับแรงดึงในแนวแกน เพราะฉะนั้น ความสามารถในการลากจูงของรถกระบะประเภทนี้ จึงด้อยกว่าอยู่พอสมควรเลยครับ

เรียกได้ว่ามีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยผสมกันไปนะครับ สำหรับกระบะสายพันธุ์ใหม่อย่าง Unibody Truck และในขณะนี้ ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ Honda เท่านั้นที่กำลังง่วนอยู่กับการพัฒนารถกระบะ Unibody หากแต่ค่ายรถยนต์อื่นๆ ก็กระโดดเข้าร่วมวงรถกระบะสายพันธุ์ใหม่ด้วยเช่นกัน

ในปี 2008 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่แดนซามูไรอย่าง Toyota ก็ได้เปิดตัว Toyota A-BAT Concept รถกระบะที่มาพร้อมกับตัวถังแบบ Unibody ซึ่งเปิดผ้าคลุมอย่างเป็นทางการในงาน North American International Auto Show โดยกระบะสุดล้ำคันนี้มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 4 กระบอกสูบ และระบบ Hybrid Synergy Drive เทคโนโลยีอันเลื่องชื่อของ Toyota

Toyota A-BAT Concept

ในปีเดียวกันนั้น GM ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว GMC Denadli XT Concept รถกระบะขนาดกลางที่มีโครงสร้างแบบยูนิบอดี้ ซึ่ง GM ได้ออกมากล่าวอย่างภาคูมิใจว่า แพลตฟอร์มแบบ Unibody ของ Denadli XT คันนี้ มีความแข็งแรงมากกว่ารถกระบะที่มีตัวถังที่มีแชสซี นอกจากนั้น โครงสร้างแบบ Unibody ยังทำให้สามารถใช้ระบบช่วงล่างด้านหลังแบบอิสระ (Independent Rear Suspension) ซึ่งเป็นอะไรที่โครงสร้างแบบแชสซีไม่สามารถทำได้

บทความแนะนำ - กระบะเล่นลม ตอนที่ 2 :ฝาครอบกระบะ ช่วยลดแรงต้านอากาศได้จริงเหรอ

GMC Denadli XT Concept

ค่ายรถยนต์เหล่านี้ ต่างพยายามดึงเอาจุดเด่นของกระบะ Unibody ออกมาเป็นจุดขาย และในขณะเดียวกันก็หาวิธีแก้ไขจุดด้อยอย่างเอาจริงเอาจัง เรียกได้ว่า อนาคตของกระบะสายพันธุ์นี้ ค่อนข้างจะสดใสเลยทีเดียวครับ แต่ส่วนตัวผมเองแล้ว ผมมองว่า เทคโนโลยี Unibody เหมาะสำหรับรถกระบะขนาดกลางที่เน้นใช้งานในชีวิตประจำวันมากกว่า ขับไปทำงานในเมืองชิลๆ หรือบรรทุกของบ้างเป็นครั้งคราว ถ้าเป็นการใช้งานในลักษณะที่ว่ามานี้ กระบะ Unibody ก็สามารถตอบโจทย์ได้ครับ

แต่สำหรับรถกระบะที่ใช้งานแบบสมบุกสมบัน เข้าป่าหาเห็ดบ่อยๆ หรือว่าบรรทุกของเป็นตันๆ อันนี้ก็ต้องยกให้เป็นรถกระบะแบบ Body-on-frame ดีกว่าครับ ...ของเค้าถึกกว่าเยอะ!

ท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์หรือ บทความอื่นๆได้ที่ แฟนเพจของเราเลยครับผม

เรียบเรียงโดยJoh Burut

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...