บทความนี้สนับสนุนโดย UnderGuard ยานยนต์

 

หลายๆ ท่านที่ติดตามข่าวสารด้านยานยนต์อย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า...ทิศทางของการพัฒนารถยนต์ในยุคปัจจุบันนั้น ได้โฟกัสไปรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนยังถือว่าเป็นเรื่องไกลตัวและมีความเป็นไปได้ที่ริบหรี่มาก แต่ในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว รถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือที่เรียกว่ารถ EV ก็ได้ออกมาวิ่งกันเกลื่อนเมือง รวมไปถึงสถานีชาร์จก็ได้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งรถยนต์น้ำมันนั้น ก็ยังคงดิ้นรนเฮือกสุดท้าย เพื่อต่อลมหายใจของเครื่องยนต์สันดาป เทคโนโลยีต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้กับเครื่องยนต์น้ำมันเพื่อให้มีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงสูงสุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การพัฒนาเครื่องยนต์ให้ประหยัดน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจเข้าใกล้คำว่า ‘อุดมคติ’ ได้เท่าไหร่นัก …เพราะว่ายังมีปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ‘แอโรไดนามิคส์’ หรือหลักอากาศพลศาสตร์ของตัวรถนั่นเอง

โดยปกติแล้ว จะมีศัตรูอยู่ 2 ตัวที่ทำให้รถยนต์กินน้ำมันเพิ่มขึ้น นั่นก็คือ แรงเสียดทานภายในเครื่องยนต์และชุดเกียร์ อีกอย่างหนึ่งก็คือแรงต้านอากาศ หรือที่เรียกว่า Drag Force นั่นเองครับ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมแอโรไดนามิคส์จึงได้มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับรถยนต์ในยุคปัจจุบัน

การออกแบบรถยนต์ในยุคนี้ นอกจากจะเน้นเส้นสายและความสวยงามแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงหลักอากาศพลศาสตร์ เพื่อให้เกิดแรงต้านอากาศให้น้อยที่สุดด้วย หนึ่งในเทคนิคสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้ในการลดแรงต้านอากาศก็คือ การใส่ ‘แอโรพาร์ท’ โดยแอโรพาร์ทที่เรากำลังพูดถึงนี้ ไม่ใช่แอโรพาร์ทที่สร้าง ‘แรงกด’ (Downforce) อย่างที่เราคุ้นเคย หากแต่ว่ามันคือแอโรพาร์ทที่ใช้ ‘ลดแรงต้านอากาศ’ นั่นเองครับ

สำหรับบทความนี้ เราจะไปชมเทคโนโลยีด้านอากาศพลศาสตร์ของรถยนต์ในยุคปัจจุบัน โดยผมได้รวบรวมแอโรพาร์ทเจ๋งๆ ทั้งหมด 4 พาร์ท ที่ออกแบบมาเพื่อลดแรงต้านอากาศโดยเฉพาะ ไปชมกันครับว่า รถยนต์แต่ละค่าย-แต่ละรุ่น ใช้เทคนิคอะไรบ้าง เพื่อให้รถยนต์ ‘เป็นมิตร’ กับสายลมมากที่สุด...

 

กราฟเปรียบเทียบแรงต้านอากาศ (Air Drag = สีเขียว)

ยิ่งความเร็วมากขึ้น แรงต้านอากาศยิ่งมากขึ้น

 

1. แผ่นปิดล้อหลัง - VW XL1

VOLKSWAGEN XL1 เป็นรถยนต์ 2 ที่นั่ง ที่ได้เปิดตัวและจำหน่ายอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2013 ใช้เครื่องยนต์ไฮบริดดีเซล 1.0-ลิตร พร้อมด้วยระบบปลั๊กอิน และจำกัดจำนวนการผลิตเพียงแค่ 250 คันเท่านั้น

นอกจากรูปทรงจะลู่ลมแบบสุดๆ แล้ว แอโรพาร์ทที่โดดเด่นสะดุดตาก็เห็นจะเป็น ‘แผ่นปิดล้อหลัง’ (Rear Wheel Skirt) …คำถามต่อมาก็คือว่า แผ่นปิดล้อหลัง ช่วยลดแรงต้านอากาศได้อย่างไร?

โดยปกติแล้วอากาศที่ไหลผ่านด้านข้างของตัวรถ จะมีส่วนหนึ่งไหลเข้าไปในซุ้มล้อ ทำให้เกิดแรงต้านอากาศขึ้น ยิ่งซุ้มล้อกว้าง แรงต้านอากาศก็จะยิ่งมาก หากติดตั้งเสกิร์ตปิดล้อหลังแล้ว อากาศที่ไหลผ่านด้านข้างของรถจะไม่สามารถไหลเข้าไปในซุ้มล้อ แต่จะไหลผ่านด้านข้างของตัวรถไปอย่างราบเรียบ เป็นผลให้แรงต้านอากาศจะลดลงสูงสุดถึง 5% และสามารถประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นได้อย่างชัดเจน

นอกจาก VW XL1 แล้ว ก็ยังมีรถยนต์สายรักษ์โลกอีกหลายรุ่น ที่ได้ใช้เทคนิคเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็น Honda Insight (First Generation) รวมไปถึง GM EV1 ต่างก็ได้ใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้ ในการต่อกรกับแรงต้านอากาศ

Honda Insight (First Generation)

 

GM EV1

 

2. แผ่นปิดช่องลมด้านหน้า - FORD FOCUS

แผ่นปิดช่องลมด้านหน้าแบบอัตโนมัติ (Active Grill Shutter) เป็นแอโรพาร์ทที่ได้ติดตั้งบน FORD FOCUS ตั้งแต่เจนเนอเรชั่นที่ 2 ภายใต้เทคโนโลยี ECOnetic ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยลดอัตราการบริโภคน้ำมัน

การใช้อากาศเพื่อระบายความร้อนของเครื่องยนต์ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของแรงต้านอากาศ เนื่องจากอากาศต้องไหลผ่านหม้อน้ำ ซึ่งหม้อน้ำนี่เองเป็นตัวขวางทางการไหลของอากาศ ทำให้เกิดแรงต้านอากาศขึ้น การปิดช่องอากาศเหล่านี้จะกั้นอากาศไม่ให้ไหลเข้าเครื่องยนต์ ทำให้อากาศไหลผ่านรถมีความเป็นระเบียบมากขึ้น ช่วยลดแรงต้านอากาศได้อย่างมหาศาล

ช่องลมเปิด

 

ช่องลมปิด

Active Grill Shutter  เป็นการใช้ครีบเปิด-ปิดเพื่อรับลมเข้าหม้อน้ำอย่างอัตโนมัติ เมื่อใดก็ตามที่เครื่องยนต์ยังไม่ร้อนมาก ครีบจะปิดไม่ให้อากาศไหลผ่านหม้อน้ำ การกั้นอากาศในลักษณะนี้ จะทำให้แรงต้านอากาศลดลง ส่งผลให้ประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงเกินไป ครีบจะเปิดเพื่อรับอากาศมาหล่อเย็นเครื่องยนต์ ช่วยรักษาอุณหภูมิเครื่องยนต์ให้อยู่ในย่านการทำงานปกตินั่นเองครับ

 

3. ลิ้นหน้าแบบแอคทิฟ - PORSCHE 911 TURBO S

911 TURBO S เป็นรถสปอร์ตที่ฉลาดมากๆ สุดยอดเทคโนโลยีที่ PORSCHE สั่งสมมาอย่างยาวนาน ถูกใส่ลงไปใน TURBO S อย่างเต็มอัตราศึก แต่ที่ผมถูกใจเป็นพิเศษนั้นก็คือ ระบบจัดเรียงอากาศแบบแอคทิฟ ที่เรียกว่า PAA ซึ่งย่อมาจาก PORSCHE ACTIVE AERODYNAMICS เป็นระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มสมรรถนะของแอโรไดนามิคส์ ในทุกช่วงความเร็วของการขับขี่

สำหรับแอโรพาร์ทที่เป็นพระเอก ก็ต้องยกให้กับ ลิ้นหน้าแบบแอคทิฟ ซึ่งสามารถ ยืด-หด ได้อย่างอิสระ โดยในขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง ลิ้นหน้าจะยื่นลงมา เพื่อลดปริมาณอากาศที่ไหลเข้าใต้ท้องรถ ช่วยลดแรงต้านอากาศ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพเชิงแอโรไดนามิคส์ได้อย่างมหาศาล

 

4. แผ่นปิดใต้ท้องรถ – NISSAN GT-R

ถึงแม้จะมีรูปร่างใหญ่โตเทอะทะ แต่ NISSAN GT-R กลับมีแอโรไดนามิคส์ที่ดีอย่างน่าประหลาด ต้องขอบคุณเหล่าแอโรพาร์ทที่ถูกติดตั้งไว้รอบคัน และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ แอโรพาร์ทใต้ท้องรถหรือที่เรียกว่า Undertray (แผ่นปิดใต้ท้องรถ) เป็นผลให้ก็อตซิลล่ายักษ์มีค่า Cd เพียงแค่ 0.26 เท่านั้นเอง!

การไหลของอากาศใต้ท้องรถมีความสำคัญไม่แพ้กับการไหลของอากาศเหนือตัวรถ เนื่องจากแรงต้านอากาศมากกว่า 20% ของแรงต้านอากาศทั้งหมด เกิดขึ้นจากการไหลของอากาศอย่างไม่เป็นระเบียบที่ใต้ท้องรถ ชิ้นส่วนของช่วงล่าง เพลาขับและท่อไอเสียล้วนแล้วแต่เป็นตัวขวางทางการไหลของอากาศ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดแรงต้านอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

NISSAN GT-R ได้รับการติดตั้งแผ่นปิดใต้ท้องตั้งแต่หน้ารถ ยาวไปถึงหลังรถ และเจ้าก็อตซิลล่าคันนี้ ก็ถือเป็นรถที่มีใต้ท้องเรียบที่สุดคันหนึ่งของโลก ทำให้แรงต้านอากาศที่เกิดขึ้นใต้ท้องนั้น มีค่าน้อยมากๆ ซึ่งเป็นดีอย่างยิ่งต่อการขับที่ความเร็วสูง

 

โซนแนะนำสินค้า

สำหรับวันนี้ ผมก็จะขออนุญาตแนะนำโปรดัคส์อีกชิ้นหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับแอโรไดนามิคส์โดยตรง นั่นก็คือ ‘UnderGuard’ แผ่นปิดใต้ห้องเครื่องฝีมือคนไทย โดยได้รับการออกแบบหลักอากาศพลศาสตร์ และทดสอบการใช้งานจริงเป็นที่เรียบร้อย

แผ่นปิดใต้ท้องผลิตจากอะลูมิเนียม และได้รับการเจาะรูด้วยขนาดพอเหมาะและมีองศาที่ถูกต้อง ช่วยระบายความร้อนของเครื่องยนต์ที่ความเร็วต่ำถึงความเร็วปานกลาง นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจากว่าแผ่นปิดใต้ท้องรถ UnderGuard มีความเรียบมากกว่าแผ่นปิดจากโรงงาน จึงสามารถช่วยลดแรงต้านอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขับขี่ที่ความเร็วสูง

แน่นอนว่า... ในตอนต่อๆ เราจะไปทดสอบและวัดอุณหภูมิในห้องเครื่อง เพื่อพิสูจน์กันว่า...ที่ว่าแผ่น UnderGuard ช่วยระบายความร้อนเครื่องยนต์นั้น จะสามารถลดอุณหภูมิได้มากแค่ไหน? และอีกทั้งเรื่องแอโรไดนามิคส์ที่ยังค้างคาใจ ในครั้งแต่ไป เราจะไปพิสูจน์กันแบบจะๆ ครับ โดยท่านผู้อ่านสามารถติดตามผลการทดสอบได้ที่ แฟนเพจ Joh’s Autolife เช่นเดิมครับ

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจและต้องการสอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ UnderGuard สามารถติดต่อไปทาง แฟนเพจ UnderGuard โดยตรงเลยครับผม

 

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...