เรียบเรียงโดยJoh Burut

10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง Super GT (Part 1/3)

10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง Super GT (Part 3/3)

เริ่มกันต่อเลยนะครับสำหรับบทความเรื่อง 10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง Super GT

บทความนี้เป็นตอนที่ 2 แล้ว ในบทความนี้จะประกอบไปด้วยคำถามตั้งแต่ข้อที่ 4 ถึงข้อที่ 6 ส่วนคำถามอีก 4 ข้อที่เหลือนั้น ผมขอยกยอดไปในบทความตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของบทความเรื่องนี้

อย่าพูดพร่ำทำเพลงให้มากนัก!! มาเพิ่มกันเลยครับ กับคำถามข้อที่ 4!!

คำถามข้อที่ 4 : จะรู้ได้ยังไง...ว่ารถแข่งคันไหนคือ GT300 หรือ GT500

ตอนที่เพิ่งเริ่มการแข่งขันได้ประมาณ 3-4 รอบสนาม มันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นมาก

ผมนี่...ยืนดูตลอดเลย

แต่พอนานเข้า... รถแข่ง GT500 ก็เริ่ม น็อครอบ รถแข่ง GT300 ...เท่านั้นแหละ! มันมั่วมาก แซงกันมั่วซั่วไปหมด ดูไม่ออกเลยว่ารถคันไหนเป็น GT300 คันไหนเป็น GT500

ผมนี่...นั่งลงเลยครับ...

ปกติแล้ว การจะสังเกตว่า รถคันนั้นอยู่ใน คลาส อะไร มีจุดสังเกตง่ายๆ 3 จุดดังนี้ครับ

จุดสังเกตที่ง่ายที่สุดก็คือ สีของไฟหน้า รถแข่ง GT300 จะมีไฟหน้า สีเหลือง ส่วนไฟหน้าของรถแข่ง GT500 จะมี สีขาวนวล ครับผม ไฟหน้า ถือเป็นจุดสังเกตที่ชัดเจนที่สุด เพราะว่าเราสามารถเห็นได้จากระยะไกล หรือแม้แต่ในวันที่ฝนตกหรือว่าหมอกลง เราก็สามารถทราบได้ทันทีว่ารถคันนั้นคือ GT300 หรือว่า GT500

จุดสังเกตจุดที่สองคือ สติ๊กเกอร์คาดกระจกหน้า สำหรับรถแข่ง GT300 จะเป็น แถบสีเหลือง ส่วนของ GT500 จะเป็น แถบสีขาว

จุดสังเกตจุดที่สามคือ สติ๊กเกอร์หมายเลขรถแข่ง ซึ่งจะถูกแปะไว้ที่ด้านข้างของตัวรถ โดยรุ่น GT300 จะมีสีพื้นหลังเป็น สีเหลือง แต่รุ่น GT500 จะมีสีพื้นหลังเป็น สีขาว

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า การแข่งขัน Super GT เป็นการแข่งขันที่ รถแข่งมีการเปลี่ยนตำแหน่งบ่อยครั้งมาก เรียกได้ว่าผลัดกันนำผลัดกันตามตลอดเวลา โดยเฉพาะในรอบต้นๆของการแข่งขันนั้น มีการแซงกันเกือบจะทุกโค้ง บางครั้งแซงกันตั้งแต่ออกสตาร์ทเลยก็มี...

พูดถึงตอนออกสตาร์ทนี่.... จะว่าไปแล้วก็แปลกใจอยู่เหมือนกัน ทำไมรถแข่ง Super GT ถึงไม่จอดในกริดสตาร์ท ทำไมถึงต้องสตาร์ทแบบ Rolling Start ด้วยนะ

คำถามข้อที่ 5 : ทำไมต้องปล่อยรถแข่งแบบ Rolling Start

ปกติแล้ว ในทุกสนามของการแข่งขัน Super GT จะมีการปล่อยตัวรถแข่งแบบ Rolling Start ซึ่งหมายถึงการปล่อยรถแข่งออกจากเส้นสตาร์ทโดยที่รถแข่ง กำลังวิ่งอยู่ ซึ่งต่างจากการปล่อยรถแข่งแบบ Standing Start ซึ่งเป็นการปล่อยรถแข่งจาก กริดสตาร์ท ในขณะที่รถแข่งจอดนิ่งสนิท

supergt.net

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆท่านน่าจะคุ้นเคยกับการปล่อยแบบ Standing Start มากกว่า เพราะว่าการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบส่วนมากจะปล่อยรถแข่งจาก จุดหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันฟอร์มูล่า-วัน(Formula 1) หรือการแข่งขันรถยนต์ทัวร์วิ่งคาร์ อย่างเช่น World Touring Car Championship ก็มีการปล่อยตัวแบบ Standing Start ด้วยกันทั้งนั้น

motorsport.com

ก่อนที่จะทำการ Rolling Start นั้น รถแข่งทุกคันจะต้อง ตั้งแถว เพื่อวิ่งตามรถ จ่าฝูง หรือที่เรียกว่า เซฟตี้ คาร์ (Safety Car) เป็นจำนวน 1 รอบสนาม ซึ่งการวิ่งตามรถจ่าฝูงแบบนี้เรียกว่า Formation Lap หรือหมายถึง รอบตั้งแถว นั่นเอง

ในขณะที่วิ่งตามรถเซฟตี้คาร์อยู่นั้น รถแข่งจะต้อง ห้ามแซง โดยเด็ดขาด นักแข่งจะต้องรักษาตำแหน่งของตัวเองไว้และวิ่งตามรถแข่งคันหน้าไป จนกระทั่งเซฟตี้คาร์ วิ่งกลับเข้าไปในพิท และนายสนามให้สัญญาณ ไฟเขียว ซึ่งเป็นการบอกนักแข่งว่า การแข่งขันได้เริ่มขึ้นแล้ว! จังหวะนั้นนักแข่งทุกคนจะกดคันเร่งแบบจมเท้า แล้วหา ไลน์ ที่ดีที่สุดเพื่อสร้างความได้เปรียบก่อนที่จะเข้าโค้งแรก

gtrblog.com
loong-updates.blogspot.com

แล้วทำไม Super GT ถึงปล่อยรถแข่งแบบ Rolling Start มันมีเหตุผลอะไรเหรอ

ความจริงก็คือว่า สำหรับการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบแล้ว การปล่อยตัวแบบ Rolling Start นั้น มีข้อได้เปรียบอยู่หลายประการเมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยตัวแบบ Standing ข้อได้เปรียบที่ว่านั้นประกอบไปด้วย...

ข้อได้เปรียบประการแรกนั้นก็คือว่า การปล่อยตัวแบบ Rolling จะเป็นการเปิดโอกาส ให้รถแข่งสามารถแซงเพื่อแย่งอันดับกันตั้งแต่ออกสตาร์ท ผู้ชมก็จะได้ชมรถแข่งเบียดกันอย่างดุเดือดตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขัน ซึ่งเป็นอะไรที่ตื่นเต้นเร้าใจมากกว่าการปล่อยตัวแบบ Standing

ข้อดีข้อที่สองนั้นเป็นการเพิ่มความ สมดุล ให้กับการแข่งขัน แน่นอนว่า รถแข่งที่มีน้ำหนักมากกว่า ย่อมออกตัวได้ช้ากว่า แต่ถ้าหากปล่อยตัวแบบ Rolling แล้วล่ะก็ ไม่ว่ารถจะเบาหรือจะหนักก็สามารถ เร่งออกตัว ได้เร็วพอๆกัน เพราะฉะนั้น การปล่อยตัวแบบ Rolling จึงเป็นการลดความได้เปรียบเชิงน้ำหนัก (Weight Advantage) ซึ่งจะทำให้การแข่งขันมีความคู่คี่สูสีมากขึ้น

ข้อได้เปรียบประการสุดท้าย การปล่อยตัวแบบ Rolling เป็นการ ถนอม ระบบส่งกำลังของรถแข่ง นั่นก็เพราะว่าการปล่อยตัวแบบ Rolling จะมีภาระที่เกิดขึ้นกับระบบส่งกำลังน้อยกว่า (Less Load on Drivetrain) เมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยตัวแบบ Standing Start

ด้วยเหตุผมทั้ง 3 ข้อที่ได้กล่าวมา การปล่อยตัวแบบ Rolling Start จึงถูกนำมาใช้กับรถแข่ง Super GT ครับผม

คำถามข้อที่ 6 : ทำไมจึงต้องมีการบวก น้ำหนักถ่วง(Weight Handicaps) ให้กับรถแข่ง

การแข่งขันคงน่าเบื่อแย่ถ้าหากว่า รถแข่งคันเดิมๆได้แชมป์ในทุกๆสนาม เพราะฉะนั้น ในการแข่งขัน Super GT จึงมีระบบ Weight Handicaps หรือระบบ น้ำหนักถ่วง ซึ่ง น้ำหนักถ่วง จะถูกเอาไปใส่รถแข่งที่ ทำผลงานได้ดี ในสนามที่แล้วๆ การทำเช่นนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้รถแข่งคันอื่นๆ สามารถเร่งแซงขึ้นมา เพื่อทำคะแนนตีตื้นได้ง่ายกว่าเดิม

ยิ่งชนะบ่อยครั้ง รถแข่งก็จะถูกบวก น้ำหนักถ่วง เพิ่มมากขึ้น และยิ่งรถแข่งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ มันก็จะวิ่งได้ช้าลง และยังมีระยะเบรกที่ยาวขึ้นอีกด้วย ดังนั้น โอกาสที่จะเป็น แชมป์ จึงน้อยลงกว่าเดิม เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของการถ่วงน้ำหนักก็คือ เพิ่มความ คู่คี่สูสี หรือเพิ่มความ สมดุล ให้กับการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้แฟนๆต้องลุ้นกันแบบ เยี่ยวเหนียว ตั้งแต่สนามแรกจนถึงสนามสุดท้ายกันเลยทีเดียว

photomalaysia.com

เราสามารถสังเกตสติ๊กเกอร์ Weight Handicaps ด้านข้างของตัวรถ โดยสติ๊กเกอร์นี้จะบอกว่า รถแข่งคันนี้ถูกบวก น้ำหนักถ่วง อยู่เท่าไหร่

นอกจากสติ๊กเกอร์ Weight Handicaps จะทำให้เราทราบถึง น้ำหนักถ่วง ที่อยู่ในรถแข่งแต่ละคันแล้ว มันยังบอกให้เราทราบว่า รถคันไหนคือ ตัวเก็ง หรือ ว่าที่แชมป์ ของปีนี้ โดยสังเกตได้จากจำนวน น้ำหนักถ่วง ยิ่งมีน้ำหนักมากเท่าไหร่ก็แสดงว่า ชนะ มาหลายครั้ง และมีโอกาสที่จะเป็น แชมป์ สูงกว่าคนอื่นนั่นเอง

d3dphotography.com
alcoveanggur.blogspot.com

ตารางข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างการคำนวณ น้ำหนักถ่วง ของรถแข่ง Super GT ในฤดูกาล 2014

และนี้คือตัวอย่างคร่าวๆนะครับ... สมมติว่า รถแข่งของทีม A ลงแข่งขันในสนามแรกและจบการแข่งขันในอันดับที่ 6 ซึ่งได้คะแนนสะสม 5 แต้ม ในสนามที่สอง มีข้อกำหนดอยู่ว่า รถแข่งทุกคันที่มีแต้มสะสม จะต้องใส่น้ำหนักถ่วง โดย 1 แต้ม ให้ใส่น้ำหนัก 2 กิโลกรัม เนื่องจาก รถแข่งทีม A มีคะแนนสะสม 5 แต้ม เพราะฉะนั้น ในสนามที่สอง รถแข่งทีม A จะต้องใส่น้ำหนักถ่วงทั้งหมด = 5 x 2 = 10 กิโลกรัมครับผม

จากตาราง น้ำหนักถ่วง จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยิ่งใครมีแต้มสะสมมากเท่าไร่ ก็ยิ่งต้องแบก น้ำหนักถ่วง มากเท่านั้น โดยน้ำหนักถ่วงสูงสุดคือ 100 กิโลกรัม แต่ในการแข่งขันสนามสุดท้าย น้ำหนักถ่วงจะถูกเอาออกทั้งหมด เพื่อให้รถแข่งได้แสดงสมรรถนะที่แท้จริงออกมา

ในบทความตอนที่ 2 ของ 10 คำถามเจาะลึกรถแข่ง Super GT ก็ขอจบไว้เพียงคำถามข้อที่ 6 แล้วกันนะครับ ส่วนคำถามที่เหลือนั้น ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในตอนต่อไป

ในบทความตอนต่อไปเราจะมาเจาะลึกรถแข่ง Super GT ให้มากขึ้นไปอีก เป็นต้นว่า #ทำไม ที่ปัดน้ำฝนของรถแข่ง Super GT มันถึง ตั้งฉาก ขึ้นมาอย่างนั้น #ทำไม วิง ของรถแข่ง GT500 มันถึงดูแปลกๆ แปลกยังไง และทำไมต้องแปลก โดยท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความตอนต่อไปได้ที่แฟนเพจของเราเลยครับผม

เรียบเรียงโดยJoh Burut

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...