เรียบเรียงโดยJoh Burut
10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง Super GT ตอนที่ 2
10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง Super GT ตอนที่ 3
มันเป็นตอนเช้า.... ตอนเช้าของอีกวันหนึ่งที่อากาศร้อนอบอ้าวมากๆ
ถ้าหากมีคนบอกผมว่า ตอนนี้.. เรากำลังอยู่ในทะเลทราย ผมจะไม่แปลกใจเลยสักนิด...
ขณะที่ผมกำลังเดินเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่นั้น ทันใดนั้น... ผมก็ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ของรถแข่งคันหนึ่งกำลังวิ่งมาอย่างสุดกำลัง จากนั้นก็เชนเกียร์จาก 5 ลงมา 4 และลงมา 3 ผมรีบหันไปมองทันที เห็นบั้นท้ายของ Honda NSX-GT อยู่ไกลๆ แต่เห็นได้ชัดเลยว่ามันกำลังเกาะไลน์เข้าโค้ง จากนั้นเพียงแค่เสี้ยววินาที มันก็ทะยานออกจากโค้งไปแบบสุดเกียร์ ปล่อยให้ผมอึ้งอยู่กับเสียงคำรามของเครื่องยนต์ VTEC Turbo อยู่พักใหญ่...
ใช่แล้วครับ... ตอนนี้ผมกำลังอยู่ที่สนามแข่งรถที่ใหญ่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั่นก็คือ สนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ณ จังหวัดบุรีรัมย์
วันนี้คือวันที่ 5 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่ทำพิธี เปิด สนามแห่งนี้อย่างเป็นทางการ และที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นก็คือ มันเป็น วันแข่ง(Race Day) ของสุดยอดรถแข่งทางเรียบของโลกอย่าง Super GT ซึ่งยกทัพขึ้นเรือจากเกาะญี่ปุ่นมาแข่งขันกันที่สนาม ช้าง อย่างยิ่งใหญ่ และสนามนี้ก็เป็นสนามที่ 7 ของฤดูกาล 2014 ด้วยใจรักในกีฬามอเตอร์สปอร์ตอย่างเต็มเปี่ยม การแข่งขันระดับโลกที่จัดขึ้นในประเทศไทยในครั้งนี้ ...มีหรือที่ผมจะพลาด
ขณะที่ผมนั่งชมการแข่งขันอย่างเร้าใจอยู่บน Grandstand ระหว่างนั้นก็มี คำถาม เกี่ยวกับรถแข่ง Super GT จากผู้ชมด้วยกันเอง ลอย เข้ามาในหูผมตลอดเวลา ในจังหวะนั้น ผมอยากจะหันไป ตอบ ให้เหลือเกิน ติดเสียแต่ว่า ผมกำลัง ฟิน กับเสียงคำรามของรถแข่ง Super GT ที่วิ่งไล่กันแบบเอาเป็นเอาตายอยู่บนแทร็ค ผมก็ได้แต่ ปล่อย คำถามเหล่านั้น...ผ่านไปแต่โดยดี
จากวันนั้นก็ผ่านมา 3 เดือนแล้ว...
ผมจึงถือโอกาสนี้ นำเอาคำถาม 10 ข้อเกี่ยวกับรถแข่ง Super GT ที่ผมได้ยินในวันนั้น มาเรียบเรียงเป็นบทความให้พี่ๆน้องๆได้อ่านกันนะครับ คำถาม 10 ข้อนี้ ท่านผู้อ่านสามารถใช้สิทธิ์ เปลี่ยนคำถาม และ ตอบได้ 2 ครั้ง 555555555 ผมล้อเล่นนะครับ ผมตอบให้หมดแล้วทุกข้อเลย เชิญอ่านกันได้เลยครับ
เริ่มกันเลย! กับคำถามข้อที่ 1
คำถามข้อที่ 1: การแข่งขัน Super GT คืออะไร
การแข่งขัน Super GT เป็นการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1993 โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น ใช้ชื่อการแข่งขันว่า JGTC (Japanese Grand Touring Championship) ซึ่ง ชื่อการแช่งขัน ก็บอกเป็นนัยอยู่แล้วว่าเป็นการแข่งขันรถที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศญี่ปุ่น(Japanese Domestic Car) และแข่งกันเฉพาะภายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
หากแต่ในภายหลัง JGTC ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สื่อมวลชนและแฟนๆมอเตอร์สปอร์ตทั้งในและนอกประเทศต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้มีรถแข่งสัญชาติอื่น บินข้ามน้ำข้ามทะเลอื่นเพื่อมาร่วมแข่งขันอย่างคึกคัก อย่างเช่น Audi, BMW และ Mercedes Benz นอกจากนั้น JGTC ยังมีการจัดการแข่งขัน นอก เกาะญี่ปุ่นบ่อยครั้งขึ้น และในที่สุด คณะผู้จัดการแข่งขันจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก JGTC เป็น Super GT เพื่อเพิ่มความเป็น สากล ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา
Super GT ถือเป็นรายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ในการแข่งขัน 1 ฤดูกาลจะเริ่มเปิดฉากแข่งขันตั้งแต่ต้นปี ยาวไปจนถึงสิ้นปี ปกติแล้ว สนามที่ใช้แข่งขันส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เช่น สนามทวินริง โมเตกิ, สนามฟูจิ สปีดเวย์, สนามซูซูก้า เซอร์กิต เป็นต้น นอกจากนั้น Super GT ยังมีการจัดการแข่งขันในสนามต่างประเทศ เช่น สนามเซปัง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ประเทศมาเลเซีย รวมไปถึง สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ของบ้านเราด้วย
โดยปกติแล้ว ใน 1 ฤดูกาลจะทำการแข่งขันทั้งหมด 8 สนาม และสนามสุดท้ายหรือที่เรียกว่า สนามของแชมป์ จะถูกกำหนดให้เป็น สนามทวินริง โมเตกิ (Twin Ring Motegi) ซึ่งเป็นสนามบ้านเกิดของ Super GT ตั้งอยู่ในจังหวัดโทชิหงิ ประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนั้น การแข่งขันของ Super GT ยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ Sprint Race และ Endurance Race โดยส่วนใหญ่แล้ว Super GT จะแข่งแบบ Sprint Race หรือเรียกว่า การแข่งระยะสั้น โดยใช้ระยะทาง 250 หรือ 300 กิโลเมตร หรือไม่ก็แข่งกันแบบโหดๆ อย่าง Endurance Race ซึ่งใช้ระยะทางมากถึง 1000 กิโลเมตร ซึ่งการแข่งขันสุดโหดนี้จะจัดขึ้นที่สนาม Suzuka Circuit เท่านั้น โดยใช้ชื่อการแข่งขันว่า SUZUKA 1,000KM
ส่วนการแข่งขันที่สนาม ช้าง อินเตอร์แนชั่นแนล เซอร์กิต ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น เป็นสนามที่ 7 ของฤดูกาล 2014 จัดเป็นการแข่งประเภท Sprint Race 300km ซึ่งใช้รอบการแข่งทั้งหมด 66 รอบสนามครับผม
คำถามข้อที่ 2 : รถแข่ง Super GT คืออะไร แบ่งเป็นกี่รุ่น
รถแข่ง Super GT จัดเป็นรถแข่งทางเรียบประเภท GT (Grand Touring) ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รุ่น ได้แก่ GT300 และ GT500 ตัวเลข 3 หลักที่ตามหลังตัวอักษร GT นั้นบ่งบอกถึง แรงม้าสูงสุด นั่นหมายความว่า GT300 คือรถแข่งที่มีแรงม้าไม่เกิน 300 แรงม้า และในทำนองเดียวกัน รถแข่ง GT500 คือรถแข่งที่มีแรงม้าไม่เกิน 500 แรงม้านั่นเอง
รถแข่ง Super GT นั้น ดูเผินๆแล้ว ก็เหมือนกับการเอา สปอร์ตคาร์ ที่มีขายอยู่ตามโชว์รูม มาโมดิฟายเครื่องยนต์ เซทอัพช่วงล่าง แล้วก็เอาลงสนามไปวิ่งแข่งกัน แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น รถแข่ง Super GT เป็นรถแข่งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวถังหรือบอดี้ บางทีมถึงกับสร้างเครื่องยนต์ตัวใหม่ขึ้นมาเพื่อลงแข่งในรายการนี้โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น รถแข่ง Super GT จึงเป็นเหมือน ไข่ในหิน เพราะมันคือสุดยอดเทคโนโลยีที่บริษัทต้นสังกัดทุ่มเทเวลาและเงินทุนมหาศาล เพื่อพัฒนาให้รถแข่งเหล่านี้ก้าวขึ้นมาเป็น เรือชูธง เพื่อแสดงถึงความเป็น ผู้นำ ในอุตสาหกรรมยานยนต์
สำหรับรถแข่งรุ่นพี่เบิ้มอย่าง GT500 นั้น จะมีความ อิสระ ในการโมดิฟายรถค่อนข้างมาก เริ่มตั้งแต่ เครื่องยนต์ ที่อนุญาตให้ใช้เครื่องยนต์อะไรก็ได้แต่ต้องเป็นยี่ห้อของตัวเอง ส่วนตำแหน่งเครื่องยนต์ก็ตามใจชอบเลย จะวางหน้า วางกลาง วางหลังก็แล้วแต่เลย แต่สุดท้ายแล้ว แรงม้าที่เค้นออกมาได้ ต้องห้ามเกินที่กำหนดไว้ นั้นก็คือ 500 แรงม้านั่นเอง
สำหรับรถแข่ง GT500 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสู้ศึกใน Super GT โดยเฉพาะ จะถูกกำหนดให้ใช้เครื่องยนต์ V8 ความจุ 3.4 ลิตร และห้ามใช้ระบบอัดอากาศใดใดทั้งสิ้น แต่ในปีหน้าจะมีการยกเลิกการใช้ เครื่องยนต์ V8 3.4 ลิตร ไม่มีระบบอัดอากาศ และเปลี่ยนไปใช้ เครื่องยนต์ 4 สูบแถวเรียง 2.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จเจอร์ ซึ่งการเปลี่ยนกฎในครั้งนี้เพื่อต้องการให้สอดคล้องกับกติกาของ DTM (German Touring Car Masters) และในช่วงปลายๆของฤดูกาล 2014 ก็มีรถแข่งบางคัน ที่เปลี่ยนมาใช้เครื่อง 2.0 ลิตร เทอร์โบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของแชซซี(Chassis) ก็สามารถโมดิฟายได้เต็มที่เลย ไม่ว่าจะเป็นบอดี้หรือช่วงล่าง แต่ขอให้รูปร่างหน้าตา ไฟหน้าไฟท้าย ยังคงเหมือนกับ รถเวอร์ชั่นโปรดัคชั่นคาร์ ที่มีขายอยู่ในโชว์รูม เท่านั้นเป็นพอ
ถ้าจะพูดถึง รถแข่งหัวแถว ของคลาส GT500 ในฤดูกาล 2014 ก็คงหนีไม่พ้นรถแข่ง สุดยอดขุนพล จาก 3 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น นั่นก็คือ Nissan GT-R, Honda NSX-GT และ Lexus RC-F
ส่วนของกติกาในรุ่นของ GT300 นั้น จะ เข้มงวด กว่ารุ่นพี่สักนิดหน่อย เนื่องจาก ทางผู้จัดอยากให้รถแข่ง GT300 มีความ ใกล้เคียง กับรถเวอร์ชั่น โปรดัคชั่นคาร์ ให้มากที่สุด ความ ใกล้เคียง ในที่นี้หมายถึงในแง่ของ กำลังของเครื่องยนต์ บอดี้ และแอโรพาร์ท เพราะฉะนั้น รถแข่ง GT300 จึงโมดิฟายได้ไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับ GT500
ถ้าเปรียบเทียบกับการแข่งขันรถ GT ของฝั่งยุโรปแล้ว กติกาของ Super GT ของญี่ปุ่นจะค่อนข้าง หลวม กว่า หรือพูดได้ว่าไม่ค่อยเข้มงวดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของแชซซีและแอโรพาร์ท (Chassis and Aero-part) ที่เปิดโอกาสให้โมดิฟายได้ อย่างเต็มที่ เพราะเหตุนี้จึงทำให้รถแข่งแต่ละคันถูกโมดิฟายอย่างสุดขั้ว รถแข่งสายเลือดซามูไรอย่าง Super GT จึงขึ้นแท่นเป็นรถแข่งประเภท GT ที่ เร็ว ที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย
ถ้าพูดถึงรถแข่ง Super GT ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะนึกถึงรถสปอร์ต 2 ประตูที่ใส่แอโรพาร์ทรอบคัน แต่เชื่อไหมว่า ความจริงแล้ว รถแข่ง 4 ประตูก็ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขันได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น Toyota Prius GT300 คันนี้ ที่ได้รับการโมดิฟายแบบเต็มสูตรเพื่อลงแข่งขันในรายการ Super GT โดยเฉพาะ
ในการแข่งขัน Super GT นั้น รถแข่ง GT300 และ GT500 จะถูกปล่อยตัวให้วิ่งใน เรซ เดียวกัน หรือพูดง่ายๆว่าวิ่งพร้อมกันน่ะแหละ แต่คำถามก็คือว่า... ทำไมต้องวิ่งพร้อมกัน
คำถามข้อที่ 3 : ทำไมรถแข่ง GT300 และ GT500 ถึงวิ่งแข่งพร้อมกัน
ในการแข่งขัน Super GT ในทุกสนาม รถแข่ง GT300 และ GT500 จะถูกปล่อยตัวให้วิ่งพร้อมๆกัน
อ้าวว...อย่างงี้ รถแข่ง GT300 มันจะไปวิ่งทัน GT500 ได้ยังไง รถแข่ง GT500 มันก็ชนะทั้งปีน่ะสิ
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายคน คงจะเกิดคำถามขึ้นในใจเช่นเดียวกับผม จริงอยู่ครับ ที่ว่าปล่อยตัวออกสตาร์ทพร้อมกัน แต่ทว่าอันดับการเข้าเส้นชัยจะถูกเอามาตัดสินแยกเป็นรุ่น GT300 และ GT500 เพราะฉะนั้น ถึงแม้รถแข่ง GT300 และ GT500 จะวิ่งพร้อมกัน แต่ก็ไม่ได้มีผลดีผลเสียกับอันดับเข้าเส้นชัย
อ่อ...อย่างนี้นี่เอง แต่ก็ยังงงอยู่ดีว่า ทำไม GT300 และ GT500 ถึงปล่อยตัวพร้อมกัน
ความจริงก็คือว่า... ปกติแล้ว สำหรับการแข่งขันรถยนต์ GT ทุกประเภทนั้น ถือเป็น ธรรมเนียมปฏิบัติ อยู่แล้วว่า รถแข่งทุกรุ่นทุกคลาส ต้องลงแข่งใน เรซ(Race)เดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น ในบางสนามของการแข่ง FIA GT รถแข่งรุ่นพี่ใหญ่และรถแข่งรุ่นน้องเล็กอย่าง GT1 และ GT2 ก็จะวิ่งแข่งพร้อมกัน
สำหรับการแข่งขัน Super GT แล้ว เหตุผลหลักๆของการปล่อยให้ GT300 และ GT500 ลงแข่งใน เรซ เดียวกันนั้น ถือเป็นการ เอนเตอร์เทนผู้ชม นั่นเอง และนี่ก็เป็นหนึ่งในเสน่ห์ของการแข่งขัน Super GT โดยเฉพาะรถแข่งคลาส GT500 แค่ลำพังไล่แซงรถแข่ง GT500 ด้วยกันเองก็ลำบากพอแล้ว แต่นี่ยังต้องหาจังหวะแซงรถ GT300 ที่วิ่งช้ากว่า เพราะฉะนั้น ในตลอดทั้งการแข่งขัน จึงมีการ แซง กันบ่อยครั้งมากๆ การแข่งขัน Super GT จึงเป็นการแข่งขันที่ท้าทายและต้องลุ้นอยู่ตลอดเวลา สำหรับผู้ชมก็จะเร้าใจกับการผลัดการไล่ ผลัดกันแซงของฝูงรถแข่งที่กระหายซึ่ง ชัยชนะ ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบการแข่งขัน และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่า ทำไม GT300 และ GT500 ถึงแข่งพร้อมกัน
ในบทความตอนแรกของ 10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง Super GT ก็ขอจบไว้ที่คำถามข้อที่ 3 แล้วกันนะครับ ส่วนคำถาม 7 ข้อที่เหลือ ผมขอยกยอดไปเป็นครั้งหน้าๆ ไม่ว่ากันนะครับ
ในบทความตอนต่อๆไป เราจะไปเจาะลึกถึงรถแข่ง Super GT อย่างจริงจัง เป็นต้นว่า #จะรู้ได้อย่างไรว่า...รถแข่งคันไหนคือ GT300 หรือ GT500 #ทำไมจึงต้องมีการใส่ น้ำหนักถ่วง ให้กับรถแข่ง #ทำไมถึงต้องปล่อยรถแข่งแบบ Rolling Start #ทำไม วิง ของรถแข่ง GT500 มันถึงดูแปลกๆ แปลกยังไง และทำไมต้องแปลก แน่ะ! อยากรู้ล่ะสิ! ท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความตอนต่อไปได้ที่แฟนเพจของเราได้เลยครับ