เรียบเรียงโดย Joh Burut
เครื่องยนต์บ็อกเซอร์นั้น ถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1896 โดยวิศวกรชาวเยอรมัน และได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีสมรรถนะสูงเทียบเท่ากับเครื่องยนต์แบบสูบเรียงทั่วไป เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ถูกนำมาใช้กับรถยนต์หลายรุ่นและหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็นรถแข่งหรือรถโปรดัคชั่นคาร์ ยกตัวอย่างเช่น Alfa Romeo 33SC12 (1976-1977), Ferrari BB 512i (1981-1984), Porsche Boxster (1996-ปัจจุบัน), Subaru BRZ GT300 (2012-ปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้เราจะโฟกัสไปที่เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ของ ซูบารุ ค่ายดาวลูกไก่จากแดนอาทิตย์อุทัยซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องเครื่องยนต์บ็อกเซอร์มานานหลายทศวรรษ
ซูบารุ เป็นค่ายรถยนต์ที่สามารถดึงเอาจุดเด่นของเครื่องยนต์บ็อกเซอร์มาใช้ได้อย่างน่าสนใจและมีเอกลักษณ์ ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน ทำให้ซูบารุสามารถสร้างเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ที่มีสรรถนะสูงและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น หลักฐานชี้ชัดของความสำเร็จก็คือ รางวัลเครื่องยนต์ยอดเยี่ยม(Best Engine Awards) ที่ซูบารุได้รับมาอย่างมากมาย ในปัจจุบัน ซูบารุได้พัฒนาเครื่องยนต์บ็อกเซอร์มาจนถึงเจนเนอเรชั่นที่ 3 แล้ว เพราะฉะนั้น เครื่องยนต์บ็อกเซอร์จึงเปรียบเสมือนเป็นหัวใจของรถยนต์ซูบารุอย่างแยกจากกันไม่ได้
นอกจากเครื่องยนต์บ็อกเซอร์สมรรถนะสูงแล้ว รถยนต์ของซูบารุยังมีความโดดเด่นในเรื่องการควบคุมที่ยอดเยี่ยมตามสโลแกนที่ว่า คอนฟิเดนท์ อิน โมชั่น (Confidence in Motion) แน่นอนว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ได้มาซึ่งสมรรถนะในการควบคุมที่สุดยอดนั้น ก็คือเครื่องยนต์บ็อกเซอร์อันโด่งดังนั่นเอง และในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับข้อได้เปรียบ 7 ประการที่ทำให้เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ซูบารุได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้
ข้อได้เปรียบประการที่ 1:
เครื่องยนต์บ็อกเซอร์มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ
การมีจุดศูนยต์ถ่วงต่ำนี้ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่โดดเด่นที่สุดของเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ เหตุผลก็เพราะว่า...เมื่อเครื่องยนต์มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำแล้ว จะส่งผลให้รถทั้งคันมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลงเช่นกัน การที่รถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ จะทำให้รถมีการตอบสนองต่อพวงมาลัยได้ดีและแม่นยำมากขึ้น เรียกได้ว่าผู้ขับสามารถควบคุมรถได้ดั่งใจมากขึ้นนั่นเอง การที่เราสามารถควบคุมรถได้อย่างทันใจและแม่นยำนั้น จะเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ขับขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ต้องหักเลี้ยวอย่างกระทันหัน รถจะตอบสนองได้ทันทีและไม่เสียการควบคุม
นอกจากจะช่วยเพิ่มสรรถนะในการควบคุมแล้ว การที่มีรถยนต์มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำยังช่วยลดโอกาสที่รถจะพลิกคว่ำในกรณีที่เกิดการชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร อีกทั้งยังช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวรถอีกด้วย
ข้อได้เปรียบประการที่ 2
เครื่องยนต์บ็อกเซอร์มีความสมดุลมากกว่า
นอกจากจะมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำแล้ว เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ยังมีโครงสร้างที่มี ความสมมาตร ซึ่งทำให้สามารถกระจายน้ำหนักได้ลงสู่ล้อซ้าย-ขวาได้อย่างสมดุล การที่รถสามารถกระจายน้ำหนักได้อย่างสมดุลนั้น จะส่งผลดีต่อการทรงตัวในขณะเข้าโค้ง และยังเพิ่มความเสถียรในขณะวิ่งทางตรงอีกด้วย
ข้อได้เปรียบประการที่ 3
เครื่องยนต์บ็อกเซอร์มีแรงสั่นสะเทือนที่น้อยกว่า
เนื่องจากการเคลื่อนที่ของลูกสูบของเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ จะเป็นการเคลื่อนที่ในแนวนอน โดยที่ลูกสูบจะเคลื่อนที่ออกไปด้านข้าง ทั้งซ้ายและขวาพร้อมๆกัน การเคลื่อนที่แบบสวนทางกันของลูกสูบทั้งสองทิศทางนี้ จะช่วยหักล้างแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นภายในเครื่องยนต์ ส่งผลให้เครื่องยนต์มีการสั่นสะเทือนและเสียงรบกวนที่น้อยลง ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ให้สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น
ข้อได้เปรียบประการที่ 4
เครื่องยนต์บ็อกเซอร์มีประสิทธิภาพการส่งกำลังมากกว่าเครื่องยนต์ปกติ
เนื่องจากเครื่องยนต์บ็อกเซอร์สามารถส่งกำลังไปชุดเกียร์โดยที่ไม่ต้องมีการเปลี่ยนทิศทางในการส่งกำลังเลย จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการส่งกำลังที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ที่มีการติดตั้งในแนวขวางตัวรถ (Transverse Engine) นอกจากนั้น การส่งกำลังแบบเป็นเส้นตรงตามแนวแกนรถ ยังช่วยให้รถมีความสมดุลและเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้มีอัตราเร่งที่ดีขึ้น และยังช่วยให้ประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ข้อได้เปรียบประการที่ 5
เครื่องยนต์บ็อกเซอร์มีน้ำหนักน้อยกว่า
ถ้าเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์สูบเรียงแล้ว เครื่องยนต์บ็อกเซอร์จะมีขนาดกระทัดรัดและเล็กกว่ามาก ส่งผลให้มีน้ำหนักน้อยกว่า สำหรับรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์อยู่ที่ตำแหน่งด้านหน้ารถแล้ว การที่เครื่องยนต์มีน้ำหนักเบาจะส่งผลให้รถสามารถเปลี่ยนทิศทางได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ทำให้ผู้ขับไม่ต้องออกแรงมากในการหักเลี้ยว ซึ่งจะช่วยให้สามารถหักหลบสิ่งกีดขวางได้อย่างทันที
ข้อได้เปรียบประการที่ 6
มีประสิทธิภาพในการหล่อลื่นขณะสตาร์ทดีกว่า
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การสึกหรอของเครื่องยนต์จะเกิดขึ้นมากที่สุดในตอนที่เริ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ ด้วยเหตุที่ว่าน้ำมันเครื่องไม่สามารถไปหล่อลื่นพื้นผิวของกระบอกสูบได้อย่างทันท่วงที ทำให้ลูกสูบเสียดสีกับผนังกระบอกสูบโดยตรง จึงเกิดการสึกหรอภายในกระบอกสูบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับเครื่องยนต์บ็อกเซอร์นั้น ลูกสูบทั้งสี่จะนอนระนาบไปกับแนวพื้นโลก ถึงแม้ว่าจะดับเครื่องยนต์เป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังคงมีน้ำมันเครื่องบางส่วนเคลือบอยู่ที่บริเวณผนังกระบอกสูบ เพราะฉะนั้น ในทางทฤษฎีแล้ว เครื่องยนต์บ็อกเซอร์จึงมีประสิทธิภาพในการหล่อลื่นในขณะสตาร์ทดีกว่าเครื่องยนต์โดยทั่วไป ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เครื่องยนต์บ็อกเซอร์มีอายุการใช้งานที่นานกว่าเครื่องยนต์ปกติ
ข้อได้เปรียบประการที่ 7
ช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับห้องโดยสารในกรณีที่เกิดการชนด้านหน้า
เทคโนโลยีนี้เรียกว่า เบรก อเวย์ เอนจิน (Break Away Engine) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพที่สุดของซูบารุ โดยที่เทคโนโลยีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะลดความเสียหายกับห้องโดยสารในกรณีที่เกิดการปะทะด้านหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารที่อยู่ภายในห้องโดยสาร
หลักการของเทคโนโลยีนี้ อยู่ที่การออกแบบให้เครื่องยนต์สามารถหลุดออกจากแท่นเครื่องยนต์ได้ในขณะเกิดการปะทะ เนื่องจากเครื่องยนต์บ็อกเซอร์เป็นเครื่องยนต์ที่ถูกติดตั้งในตำแหน่งที่ต่ำมากๆเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์โดยทั่วไป เพราะฉะนั้นเมื่อเครื่องยนต์หลุดออกมาแล้ว ตัวเครื่องยนต์จะไม่เคลื่อนที่มาปะทะกับห้องโดยสารโดยตรง แต่จะมุดลงไปที่ด้านล่างของตัวรถ ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดกับห้องโดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสมดุล หรือ Balance ถือเป็นเอกลักษณ์ของรถยนต์ซูบารุทุกรุ่นทุกคัน วิศวกรของซูบารุมีความเชื่อว่า ถ้ารถคันไหนมีเครื่องยนต์ที่แรง แต่ปราศจากซึ่งความสมดุลและความเสถียรแล้ว รถคันนั้นจะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น รถที่ดี เพราะฉะนั้น ซูบารุจึงเป็นค่ายรถยนต์ที่เน้นความสมดุลของตัวรถเป็นหลัก
นิยามของคำว่า ซูบารุ ก็คือ การนำเครื่องยนต์ที่มี ความสมดุล
มาประกอบกับตัวรถที่ถูกเซทอัพช่วงล่างมาอย่าง สมดุล
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ของซูบารุจะมีข้อได้เปรียบมากมายหลายประการ แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีข้อเสียใดใดเลย เพียงแต่ในบทความนี้ ผมมีความตั้งใจที่จะนำเสนอด้านบวกของเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับเครื่องยนต์ซูบารุบ็อกเซอร์กันมากขึ้น และท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความตอนต่อไปได้ที่ แฟนเพจของเราเลยครับผม
เรียบเรียงโดยJoh Burut