เรียบเรียงโดย Joh Burut

 

 

"พิเศษ 35.- ธรรมดา 30.-"

กลายเป็นวลียอดฮิตในร้านอาหารที่เราได้ยินแทบจะทุกวัน...

ด้วยความที่ว่าผมเป็นคนขี้สงสัย... ก็เลยเกิดคำถามงี่เง่าขึ้นมาหนึ่งคำถาม...ทำไมต้อง พิเศษ

เอาจริงๆแล้ว...ไม่ได้มีเพียงข้าวมันไก่หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำตกเท่านั้นที่มี เมนูพิเศษ ให้เราได้เลือกซื้อ แต่ถ้าหากท่านผู้อ่านลองสังเกตผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ขายอยู่ตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป หรือแม้แต่ที่โกนหนวด จะพบว่าเกือบทุกโปรดักส์ มีการแบ่งรุ่น แบ่งฟีเจอร์ แบ่งเกรด ซึ่งโดยมากแล้วจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบธรรมดา และ แบบพิเศษ

 

 

แล้ว...ทำไมต้องมีผลิตภัณฑ์ แบบพิเศษ

ถึงแม้ผมจะไม่ได้เรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์...ผมก็สามารถตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างง่ายดาย คำตอบก็คือว่า... คนเราแต่ละคนนั้น มีความต้องการไม่เท่ากัน บางคนชอบอะไรที่มันธรรมดาสามัญ แต่บางคนก็ชอบอะไรที่มัน พิเศษ กว่าคนอื่น และด้วยความต้องการที่ไม่เท่ากันของมนุษย์นี่เอง ทำให้โลกต้องสร้าง ผลิตภัณฑ์ที่พิเศษ เพื่อตอบสนองความให้กับ คนที่ต้องการความพิเศษ

ท่านผู้อ่านเดาถูกแล้วครับ... ผลิตภัณฑ์ที่ผมกำลังจะพูดถึงก็คือ รถยนต์ นั่นเอง รถยนต์เป็นโปรดักส์ที่มีการแบ่งรุ่นแบ่งเกรดค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่รุ่นต่ำสุด รุ่นกลาง ไปจนถึงรุ่นท็อป ...แต่ถึงกระนั้นแล้วก็ยังมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังต้องการที่อะไรที่ พิเศษ กว่านี้อีก

เมื่อเป็นเช่นนี้... ฮอนด้า บริษัทรถยนต์ยักใหญ่จากญี่ปุ่นจึงได้สร้างรถยนต์เกรดพิเศษที่มีรหัสว่า Type R เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการ ความสุด!!

Type R เป็นรถยนต์ที่ถูกปรับแต่งให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้น เครื่องยนต์ได้รับอัพเกรดทั้งซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อให้มีแรงม้าเพิ่มขึ้น ช่วงล่างนั้นถูกเซ็ทมาเพื่อการแข่งขันเซอร์กิตโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีการลดน้ำหนักโดยใช้วัสดุประเภทคาร์บอนไฟเบอร์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถูกปรับแต่งจนแทบจะกลายเป็นรถแข่งเต็มตัว แต่ Type R ก็ยังเป็นรถที่สามารถใช้ในชีวิตประวันได้อย่างสมดุล

และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา Type R รุ่นล่าสุดได้ทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ด้วยเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร VTEC-Turbo พิกัด 310 แรงม้า ทำให้มันกลายเป็น Type R ที่ แรงที่สุด ในตระกูล เฮช-แดง

 

ความสำเร็จในปัจจุบัน ...เป็นผลรวมของ ความสำเร็จในอดีต

ผมคิดว่า...มันจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ถ้าหากเราไม่ย้อนกลับไปดูความสำเร็จของเหล่าบรรพบุรุษแห่งตระกูล Type R เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ ผมจึงได้เรียบเรียงประวัติของเหล่าวงศาคณาญาติแห่งตระกูลที่มีสายเลือด เรซซิ่ง อย่างเต็มเปี่ยม นั่นก็คือตระกูล Type R อันโด่งดังของฮอนด้านั่นเอง ...จะมีคันไหนบ้าง ไปชมกันเลยครับ!

 

1992 Honda NSX Type R (NA1)

เรามาเริ่มกันที่คุณปู่ผู้เป็นอมตะอย่าง Honda NSX Type R ซึ่งเป็นรถที่ประกอบที่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น มันจึงเป็นรถที่มีสายเลือดของ JDM แบบ 100% NSX Type R เป็นรถยนต์สปอร์ต 2 ที่นั่ง เครื่องยนต์ VTEC บล็อกอะลูมิเนียม V6 ความจุ 3.0 ลิตร (C30A) ถูกวางไว้ กลางลำ และส่งกำลังไปขับล้อหลังตามแบบฉบับของสปอร์ตคาร์ สร้างแรงม้าได้ทั้งหมด 276 แรงม้าที่ 7,300 รอบ และทอร์ค 217 ปอนด์ฟุตที่ 5,400 รอบ

เมื่อเทียบกับ NSX เวอร์ชั่นปกติแล้ว Type R จะมีน้ำหนักเบากว่าประมาณ 120 กิโลกรัม (NSX เวอร์ชั่นปกติหนัก 1,350 กิโลกรัม, NSX Type R หนัก 1,230 กิโลกรัม ) ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดเอาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์และอุปกรณ์ซับเสียงออกไป

ท่านผู้อ่านหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า คำว่า NSX นั้นมีความหมายในตัวมันเอง โดยที่ตัวอักษร N ย่อมาจาก New ส่วนตัวอักษร S นั้นหมายถึง Sportcar และตัวอักษร X นั้นหมายถึง Experimental นั่นเอง

 

1995 Honda Integra Type R (DC2)

Integra โมเดลนี้ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในรถตระกูล Type R ที่ควรมีไว้ในครอบครองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการซิ่งในเซอร์กิต เพราะมันเป็นหนึ่งในรถขับหน้าที่ สมดุล ที่สุดเท่าที่ฮอนด้าเคยผลิตมา

กำลัง 197 แรงม้าที่ 8,000 รอบ (สเปคญี่ปุ่น) ถูกบันดาลขึ้นจากเครื่องยนต์สี่สูบ-แคมคู่ B18 ฝาแดง (B18C) ประกบกับเกียร์แมนนวลอัตราทดชิด(Close-ratio) และถูกกระจายแรงขับซ้าย-ขวาด้วยลิมิเต็ดสลิป

Integra ตัวนี้ถูกเซตช่วงล่างมาแบบกึ่งสตรีทกึ่งเรซซิ่ง พร้อมกันนั้นก็ได้มีการสปอตตัวถังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับซุ้มช็อคหน้า-หลัง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการลดน้ำหนักโดยการลดปริมาณตัวซับเสียง แต่ด้วยการเพิ่มความหนาของเหล็กบริเวณเบ้าช็อคและแพหน้า ทำให้น้ำหนักของ Type R ตัวนี้ไม่ได้เบากว่าเวอร์ชั่นปกติมากนัก

 

1997 Honda Civic Type R (EK9)

EK9 เป็นแฮทช์แบคที่เราสามารถพบได้ทุกที่ที่มีการแข่งขันในเรื่องของความเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันแดร็ก เซอร์กิต การแข่งขันแรลลี่ หรือแม้แต่ซิ่งหลังถนนอย่างสตรีทเรซซิ่ง ...มันเป็นนักมวยที่สู้ได้ทุกสังเวียนจริงๆ และถึงแม้เวลาจะผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ EK9 คันนี้ก็ยังคงไล่กวดรถเทอร์โบจนขวัญผวามาแล้วนักต่อนัก

EK9 เป็น Civic ตัวแรกที่ได้ติดยศ Type R เครื่องยนต์สี่สูบ-แคมคู่-รอบจัด B16 ฝาแดง (B16B) ผลิตกำลังได้ 183 แรงม้าที่รอบเครื่องสูงถึง 8,200 รอบ ส่งกำลังผ่านเกียร์แมนนวล 5-สปีดอัตราทดชิด พร้อมทั้งเฟืองท้ายแบบลิมิเต็ดสลิป นอกจากนั้นแล้ว บอดี้ของ EK9 Type R ยังมีการสปอตตัวถังให้มีความแข็งแรงมากขึ้นเพื่อแรงรองรับกับช่วงล่างที่ถูกเซทอัพมาแบบเรซซิ่ง

และในปี 1998 ฮอนด้าได้ปล่อย ที่สุดของ EK9 นั่นก็คือ Type R เวอร์ชั่น Motor Sport Edition ซึ่งได้ถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ออกแทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระจกไฟฟ้า วิทยุ แอร์ รวมไปถึงพวงมาลัยพาวเวอร์ด้วย อืม...นี่มันรถแข่งชัดๆ ขาดก็แต่โรลบาร์กับสติกเกอร์สปอนเซอร์นี่แหละ!

 

1998 Acura Integra Type R (DC2)

หลังจากซิ่งบนเกาะญี่ปุ่นได้ 2-3 ปี Integra type R ก็ถูกจับลงเรือเพื่อไปขึ้นฝั่งที่ยุโรปและอเมริกา โดยใช้ชื่อว่า Acura Integra Type R พร้อมกันนั้นก็ได้เปลี่ยนไฟหน้าเป็นแบบตากลมตามแบบฉบับของอเมริกันสไตล์

ในส่วนของเครื่องยนต์ยังคงเป็น B18C เช่นเดิม แต่ด้วยกำลังอัดที่ลดลงเหลือ 10.6:1 ทำให้แรงม้าของเครื่อง US Spec ถูกตอนให้เหลือเพียง 195 ตัว (JDM เวอร์ชั่นมีแรงม้า 197 ตัว กำลังอัด 11:1)

แต่ถึงกระนั้นแล้ว... เครื่อง B18C สเปคของอเมริกาก็ขึ้นแท่นเป็นเครื่องยนต์เบนซินที่มีจำนวน แรงม้าต่อลิตร สูงที่สุด ซึ่งมีค่าเท่ากับ 108 แรงม้าต่อลิตร แต่แล้ว...สถิตินี้ก็ถูกทำลายลงในปีถัดมาโดยรุ่นพี่สายเลือดเดียวกัน นั่นก็คือ เครื่องยนต์รหัส F20C ที่สิงห์สถิตอยู่ใน Honda S2000 นั่นเอง

 

1998 Honda Accord Type R (CL1)

หล่อและแรง คือคำนิยามของ Accord Type R ซึ่งทำตลาดอยู่ที่ฝั่งยุโรปเท่านั้น Accord คันนี้ถูกเสริมเขี้ยวเล็บโดยเครื่องยนต์ H22A ฝาแดง สี่สูบ ความจุ 2.2 ลิตร สร้างแรงม้าได้ 210 แรงม้าที่ 7,200 รอบ ประกบกับเกียร์แมนนวล 5-สปีด พร้อมกับเฟืองเต็ด

Accord Type R ถูกเซตอัพช่วงล่างใหม่ เพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวถัง และได้มีการอัพเกรดระบบเบรกไปใช้แบบ 2 พอตอีกด้วย ...ถึงแม้จะเป็น Type R ที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่มันก็เป็นรถอีกคันที่กวาดรางวัลมาให้ฮอนด้าได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

2001 Honda Integra Type R (DC5)

และแล้ว Integra ก็กลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่อีกครั้ง Integra Type R คันนี้มีรหัสตัวถังว่า DC5 ซึ่งทำตลาดอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก เครื่องยนต์ K20A i-VTEC ความจุ 2.0 ลิตร สร้างแรงม้าได้ 220 ตัวที่ 8,000 รอบ และถึงแม้จะใช้เครื่องที่ใหญ่กว่า DC2 (B18C) แต่น้ำหนักเครื่องของ K20A ก็เบากว่าเกือบ 20 กิโลกรัม กำลังที่สร้างได้ถูกส่งผ่านเกียร์แมนนวลอัตราทดชิด 6-สปีดพร้อมลิมิเต็ดสลิป

ตัวถังมีความแข็งแรงขึ้น 116% เมื่อเทียบกับ DC2 ช่วงล่างแบบเรซซิ่งสเปค พร้อมเบรกเรมโบ 4 พอต ทำให้มันกลายเป็นรถที่เราสามารถเอาลงไปวิ่งในสนามโดยที่ แทบจะไม่ต้องโมดิฟายอะไรเพิ่มเติมเลย...

DC5 ได้ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงแอโรไดนามิคส์ทำให้มันมีรูปทรงที่ลู่ลมกว่า DC2 แต่ด้วยมิติของตัวรถที่ใหญ่และกว้างกว่า ทำให้มันมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าเดิม และด้วยบอดี้ที่สูงกว่าเดิมส่งผลให้ตัวรถมีอาการโคลงหรือ บอดี้โรล ซึ่งกลายมาเป็นจุดด้อยของรถรุ่นนี้ แต่ถึงกระนั้นมันก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นรถขับหน้าที่ดีที่สุดในยุค และนี่ก็คือ Type R ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอีกคันหนึ่ง

 

2001 Honda Civic Type R (EP3)

และแล้ว... Civic Type R ก็กลับมาพร้อมกับชื่อเล่นว่า... Type R ของผู้ดี นั่นก็เพราะว่ามันถูกประกอบขึ้นที่โรงงานในประเทศอังกฤษ EP3 Type R ตัวนี้ยังคงเป็น บอดี้แฮทช์แบค 3-ประตู น้ำหนักเบาเช่นเดียวกับรุ่นก่อนหน้านี้นั่นก็คือ EK9 Type R

เครื่องยนต์ถูกเปลี่ยนมาใช้เครื่องบล็อก K นั่นก็คือเครื่อง K20A2 i-VTEC ความจุ 2.0 ลิตร ผลิตม้าได้ทั้งหมด 200 ตัวที่ 7,400 รอบ ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตราทดชิด 6-สปีด แต่ที่น่าแปลกก็คือเกียร์ของ EP3 ลูกนี้ ไม่มีลิมิเต็ดสลิป* ทั้งๆที่มันเคยมีอยู่ในรถรุ่นพี่อย่าง EK9 Type R ที่ทำตลาดตั้งแต่ปี 1997 *(สำหรับ EP3 Type R รุ่นที่มีลิมิเต็ดสลิป ถูกส่งกลับมาขายที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น)

ด้วยตัวถังน้ำหนักเบาและเครื่องยนต์ที่แรงเกินตัวทำให้มันได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในรถแฮทช์แบคที่ขับสนุกที่สุด และเจ้าตัวเล็กพริกขี้หนูอย่าง EP3 Type R ก็ได้รับรางวัล คาร์ ออฟ เดอะ เยียร์ (Car of the Year) จากสองสำนักรีวิวรถยนต์ชื่อดังของอังกฤษ นั่นก็คือ ท็อปเกียร์และฟิฟธ์เกียร์

 

2002 Accord Euro R (CL7)

การกลับมาอีกครั้งของนิยามคำว่า หล่อและแรง Accord Euro R ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำตลาดในญี่ปุ่นและยุโรปเป็นหลัก

ในครั้งนี้ มันกลับมาด้วยเครื่องยนต์ K20A ความจุ 2.0 ลิตร 220 แรงม้าที่ 8,000 รอบ ประกบเกียร์แมนนวล 6-สปีด พร้อมเฟืองเต็ดตามแบบฉบับของ Type R แน่นอนว่าตัวถังถูกเพิ่มความแข็งแรง และพร้อมกันนั้นก็ถูกลดน้ำหนักด้วยเช่นกัน

 

2002 Honda NSX Type R (NA2)

NSX Type R รุ่นที่ 2 ยังคงไว้ซึ่งความ โหดและดิบ อย่างเช่นเคย สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือโคมไฟหน้าที่เปลี่ยนจากแบบ ป๊อปอัพ มาเป็นแบบ เลนส์ฟิกซ์ นอกจากนั้น NSX Type R รุ่นนี้ยังได้รับการอัพเกรดแอโรไดนามิคส์มาแบบเต็มอัตราศึก

แอโรพาร์ทที่ว่านี้ได้แก่ รูระบายอากาศที่ฝากระโปรงหน้า, แผ่นปิดใต้ท้องรถ, ดิฟฟิวเซอร์หลัง และสปอยเลอร์หลังขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มความแรงกดให้กับตัวรถในขณะที่เข้าโค้งด้วยความเร็วสูง และด้วยการเพิ่มแอโรพาร์ทเข้าไปแบบเต็มสูตรนี้ทำให้ NSX Type-R ตัวใหม่นี้หนักกว่าตัวเดิมประมาณ 40 กิโลกรัม

เครื่องยนต์เป็นเครื่อง V6 รหัส C32B ความจุ 3.2 ลิตร 290 แรงม้า วางกลางลำ ประกบกับเกียร์แมนนวล 6-สปีด ส่งกำลังไปขับเคลื่อนล้อหลังเช่นเดียวกันกับ NSX Type R ปี 1992

 

2007 Honda Civic Type R (FN2: EDM Spec.)

และนี่ก็คือ Type R ตัวล่าสุดของฝั่งยุโรปที่ยังคงไว้ซึ่งบอดี้แฮทช์แบคสามประตู เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่อง 2.0 ลิตร รหัส K20A ผลิตกำลังได้ 198 แรงม้าที่ 7,800 รอบ จับคู่กับเกียร์แมนนวลอัตราทดชิด 6-สปีด ...แต่ทว่าไร้ซึ่งวี่แววของลิมิเต็ดสลิป

FN2 เป็นแฮทช์แบคที่แชร์ช่วงล่างกับ ฮอนด้าแจ๊ซ ซึ่งมีช่วงล่างด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม (Torsion beam)...และนี่ก็เป็นข้อผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะว่าช่วงล่างแบบนี้ไม่ควรจะมาอยู่ในรถสมรรถนะสูงอย่าง Civic Type R นั่นทำให้ FN2 Type R คันนี้...ได้รับคำติ...มากกว่าคำชม

แต่ผมมองว่า...มันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่ FN2 จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ เหตุผลก็เพราะว่า รุ่นพี่อย่าง EP3 Type R (ปี 2001) นั้น เป็นแฮทช์แบคที่มีสมรรถนะ ดีเกินตัว ...นั่นทำให้น้องใหม่อย่าง FN2 ถูกตั้งความหวังไว้สูงมากๆ และในเมื่อมันทำไม่ได้อย่างที่สาวก Type R คาดหวังไว้ FN2 จึงกลายเป็นรถที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร...

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถูกวิจารณ์เสียๆหายๆ ... แต่มันก็เป็น แฮทช์แบค-เฮชแดง ที่ควรค่าแก่การเป็นเจ้าของไม่แพ้ Type R คันอื่นๆเลยทีเดียว

 

2007 Honda Civic Type R (FD2: JDM Spec.)

และแล้ว...ยุคของ Civic Type R ในบอดี้แบบแฮทช์แบคสามประตูก็ถึงคราวสิ้นสุด ในครั้งนี้ Civic Type R มาในทรงของซีดานสี่ประตู ที่ใหญ่กว่า กว้างกว่า และหนักกว่าเดิม (หนักกว่า DC5 Type R เกือบ 100 กิโลกรัม!) แต่ทว่าด้วยน้ำหนักที่มากกว่า กลับกลายเป็นทำให้ FD2 มีความเสถียรที่ความเร็วสูง ซึ่งเป็นข้อด้อยของ Civic Type R รุ่นก่อนหน้า

เครื่องยนต์ K20A ความจุ 2.0 ลิตร 222 แรงม้าที่ 8,400 รอบ (ใช้พื้นฐานเดียวกันกับเครื่อง K20A ที่อยู่ใน Accord Euro R (CL7) ) เกียร์แมนนวล 6-สปีด พร้อมลิมิเต็ดสลิปมีมาให้เสร็จสรรพ

ตัวถังมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับ DC5 Type R นอกจากนั้น จานเบรกถูกขยายเป็น 320 มิลลิเมตรเพื่อให้สัมพันธ์กับน้ำหนักของตัวรถที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับคาลิปเปอร์ 4 พอตจากเบรมโบ้ และล้อแม็กขอบ 18 จับคู่กับยาง RE070 จากบริจสโตน

 

2016 Honda Civic Type R (FK2)

ในขณะที่กระแสของ เฮช-แดง ได้เงียบหายไปในวงการรถยนต์สมรรถนะสูงเป็นเวลาเกือบ 10 ปี และแล้ว...มันก็ถึงเวลาที่ Civic Type R จะกลับมาทวงบัลลังก์อีกครั้ง...ในครั้งนี้ แม่สาวน้อยของเรา มากับบอดี้แฮทช์แบคสี่ประตู กับชุดแอโรพาร์ทแบบพร้อมรบ...

ในครั้งนี้...ฮอนด้า ใจถึงพึ่งได้ โดยการนำ เทอร์โบ มาใช้กับรหัส Type R เป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร VTEC เทอร์โบ ฉีดน้ำมันตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ สามารถสร้างแรงม้าได้ 310 แรงม้าที่ 6500 รอบ และทอร์ค 400 นิวตันเมตรตั้งแต่ 2,500 รอบ แน่นอนว่าเรดไลน์ก็ถูกลดลงตามสไตล์ของเครื่องเทอร์โบ เหลือเพียง 7,000 รอบ ส่วนเกียร์ที่ให้มานั้น เป็นแบบแมนนวล 6-สปีด พร้อมลิมิเต็ดสลิป

สิ่งที่น่าจับตามองในตอนนี้ก็คือ เครื่องยนต์ VTEC เทอร์โบ จะสามารถตอบสนองได้ดีเท่ากับ VTEC NA หรือไม่ และการเปลี่ยนไปใช้เทอร์โบ จะทำให้เสน่ห์ของ VTEC ลดลงไปหรือไม่

นอกจากนั้น Type R ตัวใหม่นี้ยังมี ลูกเล่นใหม่ มาให้คนขับได้ปรับเปลี่ยนโหมดการขับนั่นก็คือปุ่มกด +R ว่าแต่...กดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ +R ก็คล้ายๆกับ เรซซิ่ง โหมด นั่นแหละครับ ในโหมดนี้ จะมีการเพิ่มความแข็งให้กับช็อคอัพไฟฟ้า ลดการช่วยเหลือของพวงมาลัยพาวเวอร์ซึ่งจะทำให้พวงลัยหนักขึ้นและตอบสนองได้ดีกว่าเดิม นอกจากนั้นยังเปลี่ยนแม็พจูนนิ่งของน้ำมันและองศาไฟจุดระเบิดเพื่อเพิ่มทอร์คให้กับเครื่องยนต์

บทความแนะนำ – 5 เหตุผล - ที่ทำให้ผมชอบ FD2R มากกว่า FK2R

 

 

2018 Honda Civic Type R (FK8)

เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ สำหรับทายาทตระกูล Type R ลำใหม่จาก Honda นั่นก็คือ Honda Civic Type R (FK8) ซึ่งใช้พื้นฐานของ Civic เจนเนอเรชั่นล่าสุด (Civic FC) มาพร้อมกับการอัพเกรดช่วงล่างใหม่แบบยกชุด ขณะเดียวกันนั้น เครื่องยนต์ก็ได้รับการปรับแต่งเพิ่มเติมจาก Civic Type R (FK2R) อยู่พอสมควร

Civic FK8 ได้หยิบยืมเครื่องยนต์มาจาก Civic FK2R แฮทช์แบคจระกูล Type R คันก่อนหน้านี้ โดยเครื่องยนต์ที่ใช้ใน FK8 คันนี้คือเครื่องรหัส K20C 4-สูบเรียง ความจุ 2.0-ลิตร เทอร์โบชาร์จเจอร์ สร้างกำลังได้ 316-แรงม้า นอกจากนั้นแล้ว สำหรับช่วงล่างของ FK8 คันนี้ ก็ได้บอกลาช่วงล่างแบบ คานแข็ง และหันไปใช้ช่วงล่างแบบ มัลติ-ลิงค์ โดยสมบูรณ์

หนึ่งในฟีเจอร์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดสำหรับ FK8 คันนี้ ก็คงหนีไม่พ้น ท่อไอเสียแบบ 3-รู ซึ่งแรกเริ่มเดิมที่นั้น หลายๆ คนอาจจะคิดว่ามันคือ ‘ท่อเวสต์เกต’ ซึ่งลักษณะการวางท่อไอเสียในรูปแบบนี้ เคยปรากฏมาก่อนใน Ferreari F40

บทความแนะนำ - 5 ข้อมูลเชิงเทคนิคที่น่าสนใน ของ 2018 Honda Civic Type R (FK8)

อย่างไรก็ตาม ท่อไอเสียของ FK8 นั้น ไม่ใช่ ‘ท่อเวสต์เกต’ แต่อย่างใด หากแต่มันคือจัดเรียงไอเสียให้ไหลได้สะดวกทั้งรอบต่ำและรอบสูง ในขณะรอบเดินเบา ปริมาณไอเสียจะพุ่งออกมาทั้งหมด 3-ท่อในปริมาณที่เท่ากัน แต่ในช่วงรอบกลาง-รอบสูง ความดันของท่อไอเสียตรงกลางจะมีค่าต่ำลง การทำเช่นนี้ จะช่วยลดระดับเสียงโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่เกิดขึ้นในห้องโดยสารหรือที่เรียกว่า บูมมิ่ง นอยส์ (Booming Noise) ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ การทำให้เสียงเครื่องยนต์ไม่ดังจนเกินไป แต่ในขณะเดียวกันนั้น สมรรถนะของเครื่องยนต์ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

ก็จบแล้วนะครับ ...สำหรับการแนะนำตัวคร่าวๆของสมาชิกของ Type R ตั้งแต่ยุดเริ่มแรกมาจนถึงยุคปัจจุบัน หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย และท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความต่อๆไปได้ที่ แฟนเพจของเราเลยนะครับผม

 

เรียบเรียงโดยJoh Burut

References; wikipedia.com, topgear.co.uk

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...