ในช่วงต้นปี 2018 นี้ หลายๆ ท่านก็คงจะวางแผนขับรถท่องเที่ยวในระยะไกล การเช็ครถยนต์ขั้นพื้นฐานด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเช็คระดับน้ำมันเครื่อง, ระดับน้ำหล่อเย็น รวมไปถึงความดันลมยาง เพียงเท่านี้ ก็ทำให้เราอุ่นใจตลอดการเดินทางแล้ว ...ว่าแต่ว่า เอ๊ะ! เราลืมอะไรไปหรือเปล่า? ใช่แล้วครับ... เราได้ลืมเช็คระบบที่สำคัญที่สุดในเรื่องของความปลอดภัย นั่นก็คือ ‘ระบบเบรก’ นั่นเอง

มีตัวอย่างให้เห็นไม่น้อยแล้วนะครับ สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดจากความล้มเหลวและบกพร่องของระบบเบรก ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็คือการขาดความรู้-ความเข้าใจของผู้ใช้รถ ทำให้เกิดการละเลยในการบำรุงรักษา ส่งผลสืบเนื่องให้ระบบเบรกทำงานไม่ปกติ และเสื่อมสภาพก่อนระยะเวลาอันควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถขึ้น-ลงในพื้นที่หุบเขา ซึ่งจะต้องใช้เบรกอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง ระบบเบรกที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้รถยนต์กลายเป็นเหมือนกับ ‘ระเบิดเวลาติดล้อ’ ที่พร้อมจะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ

อ่านบทความเรื่อง ‘รู้เฟื่อง-เรื่องเบรก ตอนที่ 1 - เซาะ-เจาะ-เรียบ : จานเบรกแบบไหน...มีประสิทธิภาพสูงที่สุด?’

หนึ่งในอาการที่น่ากลัวที่สุด ที่เกิดจากความบกพร่องของระบบเบรกก็คือ อาการเบรกไม่อยู่ หรือที่เรียกว่า ‘เบรก-เฟด’ (Brake Fade) นั่นเอง โดยอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเบรกประเภท ดรัมเบรก และ ดิสค์เบรก โดยอาการของ เบรก-เฟด นั้น คือการที่เราเหยียบแป้นเบรกลงไปแล้ว แต่จานเบรก (หรือดิสค์เบรก) สามารถสร้างแรงต้านได้น้อยลง หรืออาจจะไม่มีแรงต้านเลย ส่งผลให้รถยนต์มีระยะเบรกที่มากขึ้น หรือในกรณีที่แย่ที่สุดก็คือว่า เบรกไม่อยู่เลยก็มี...

ระบบเบรกนั้น เป็นระบบที่เปลี่ยนพลังงานการเคลื่อนที่ให้กลายเป็นพลังงานความร้อน ระบบเบรกจึงเป็นระบบที่มีความร้อนสูงเป็นอันดับสอง รองจากเครื่องยนต์ และความร้อนเจ้าปัญหานี่เอง ที่กลายมาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอาการ เบรก-เฟด

อาการ เบรก-เฟด นี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งรถใหม่ รถเก่า รถแต่ง หรือแม้กระทั่งรถแข่ง โดยอาการ เบรก-เฟด ที่เกิดขึ้นจากความร้อนนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) อาการ เบรก-เฟดที่เกิดจากผ้าเบรก (Mechanical Fade) และ 2) อาการเบรก-เฟดที่เกิดจากน้ำมันเบรก (Fluid Fade)

 

1. MECHANICAL FADE (แมคคานิคอล เฟด)

อาการเบรก-เฟด ที่เกิดจาก ‘ผ้าเบรก’

ผ้าเบรกแต่ละแบบสามารถทนความร้อนได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับวัสดุและส่วนผสมของเนื้อผ้าเบรก ความหนาของผ้าเบรก รวมไปถึงอายุการใช้งานของผ้าเบรกด้วย เมื่อมีการใช้งานเบรกอย่างหนักหน่วง จนทำให้ผ้าเบรกร้อนเกินปกติแล้ว ...มันก็จะเริ่มละลายล่ะครับทีนี้ ขณะที่ผ้าเบรกเริ่มละลาย มันจะปล่อยก๊าซออกมา และก๊าซเหล่านี้ จะปกคลุมหน้าผ้าเบรก ส่งผลให้ผ้าเบรกไม่สามารถ ‘สัมผัส’ กับจานเบรกได้ เมื่อสัมผัสไม่ได้ ก็ไม่สามารถสร้างแรงเบรกได้นั่นเองครับ เพราะฉะนั้น ในกรณี ถึงแม้เราจะรู้สึกว่า เหยียบเบรกไปแบบเต็มที่แล้ว แต่รถยนต์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดความเร็วลงเลย

ผ้าเบรกที่ได้รับความร้อนจนเกิดการโอเวอร์ฮีท

 

กราฟเปรียบเทียบประสิทธิภาพการเบรก (แกน Y) และอุณหภูมิ (แกน X)

ขณะที่รถยนต์เกิดอาการเบรก เฟดที่มีต้นเหตุมาจากผ้าเบรกหลอมละลาย คนขับจะสามารถรับรู้ได้โดยกลิ่นไหม้จากกลุ่มก๊าซ ซึ่งเกิดจากการละลายของผ้าเบรกนั่นเอง และถ้าหากว่าเริ่มได้กลิ่นไหม้ในลักษณะนี้ ประกอบกับเริ่มรู้สึกว่ารถมีระยะเบรกเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่กดแป้นเบรกด้วยน้ำหนักเท่าเดิม อันดับแรกเลยให้เราเผื่อระยะเบรกให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว และถ้าเป็นไปได้ ให้จอดรถพักชั่วคราวเพื่อให้จานเบรกและผ้าเบรกมีอุณหภูมิเย็นลงสักพักก่อนครับ

 

2. FLUID FADE (ฟลูอิด เฟด)

อาการเบรก-เฟด ที่เกิดจาก ‘น้ำมันเบรก’

หลายๆ คนอาจจะงงว่า ‘น้ำมันเบรก’ มีผลต่อสมรรถนะการเบรกด้วยเหรอ? มันส่งผลให้เกิด เบรก-เฟด ได้อย่างไร?

น้ำมันเบรกก็คือของเหลวชนิดหนึ่ง ซึ่งของเวลาทุกอย่างบนโลกนี้ ล้วนสามารถเปลี่ยนสถานะกลายเป็น ‘ไอ’ (Vapor) ซึ่งถ้าเกิดเราให้ความร้อนจนถึงจุดหนึ่งซึ่งเรียกว่าจุดเดือด ของเหลวที่อยู่ในภาชนะใดๆ ก็จะกลายสถานะเป็นไอ และระเหยสู่บรรยากาศโดยทันที

 

จุดเดือดของน้ำเบรกแต่ละเกรด

ปกติแล้ว น้ำมันเบรกโดยทั่วไปมีจุดเดือดประมาณ 230 องศาเซลเซียส (น้ำมันเบรก DOT 5 มีจุดเดือดสูงถึง 260 องศาเซลเซียส) ถ้าหากว่าเราใช้เบรกอย่างต่อเนื่องแล้ว ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเสียดสีกันของจานเบรกและผ้าเบรก จะทำให้น้ำมันเบรกที่อยู่ในท่อทางเดินมีอุณหภูมิสูงขึ้น และถ้าหากว่าอุณหภูมิดังกล่าว ‘สูงกว่า’ จุดเดือดของน้ำมันเบรก ทีนี้ก็บอกลา ‘ซาโยนาระ’ ได้เลยครับ

เมื่อความร้อนในท่อทางเดินน้ำมันเบรก มีค่าสูงจนกระทั่งน้ำมันเบรกกลายสถานะเป็นไอแล้ว เมื่อเราเหยียบแป้นเบรก จะพบว่ามันยุบลงไปได้ง่ายกว่าเดิม (แป้นเบรกเบาลง) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่น้ำมันเบรกกลายเป็นไอ และไม่สามารถถ่ายแรงไปยังกดลูกสูบได้นั่นเอง ส่งผลให้ระยะเบรกเพิ่มขึ้น หรืออาจจะไม่สามารถหยุดรถเลยก็เป็นได้

เมื่อใช้ไปนาน จุดเดือดของน้ำมันเบรกจะลดลง เป็นผลมาจากการที่มีไอน้ำ (ความชื้น) เข้าไปปะปนกับน้ำมันเบรกนั่นเองครับ

ซึ่งในกรณีนี้ ถือว่ามีอันตรายมากกว่ากรณีแรก และมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถหยุดรถได้ค่อนข้างสูงมากๆ และที่สำคัญก็คือว่า เราจะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่า อาการ เบรก-เฟด ในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จนกระทั่งจังหวะที่เราได้เหยียบแป้นเบรกลงไป...แล้วปรากฏว่า ‘เบรกหาย’ ไปเสียแล้ว…

วิธีแก้ไขเบื้องต้น หลังจากว่าเกิดอาการ เบรก-เฟด ในกรณีนี้ คือให้ค่อยๆ ย้ำเบรกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้น้ำมันเบรกที่เก็บอยู่ในถังพัก ไหลมาทดแทนส่วนที่กลายเป็นไอ และเมื่อรถหยุดแล้ว ให้จอดพักข้างทางชั่วขณะหนึ่งเพื่อให้อุณหภูมิโดยรวมของระบบเบรกเย็นลงสักนิดหนึ่ง

 

บทสรุป

ถึงแม้ว่าตัวจานเบรกเองจะสามารถสร้างแรงเสียดทานได้อย่างมากมาย แต่ถ้าไร้ซึ่งการระบายความร้อนที่ดีแล้ว ก็ไม่แคล้วต้องได้พบเจอเหตุการณ์ เบรก-เฟด อย่างแน่นอนครับ เพราะฉะนั้น ระบบเบรกที่ดีต้องมีความสมดุลระหว่างการสร้างแรงเสียดทาน (Friction Performance) และการระบายความร้อน (Cooling Efficiency)

การขับรถในสภาวะที่ต้องใช้เบรกอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นการขับรถขึ้น-ลงเขา จะทำให้มีโอกาสเกิด เบรก-เฟด ได้ง่ายกว่าปกติ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรที่จะละเลยและบำรุงรักษาระบบเบรกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำมันเบรก, ความหนาของผ้าเบรก รวมไปถึงความหนาของจานเบรก ควรตรจสอบอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการขับเดินทางในระยะไหล เพราะว่า...เมื่อไหร่ที่เราอยู่บนรถนั้น ชีวิตของเรา จะถูกฝากไว้กับ ‘ระบบเบรก’ นะครับผม

สำหรับบทความนี้ ก็ขอจบลงแต่เพียงเท่านี้ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อย และท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ แฟนเพจ Joh’s Autolife ได้โดยตรงเลยครับผม

อ่านบทความเรื่อง ‘รู้เฟื่อง-เรื่องเบรก ตอนที่ 1 - เซาะ-เจาะ-เรียบ : จานเบรกแบบไหน...มีประสิทธิภาพสูงที่สุด?’

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...