สำหรับขาซิ่งสายเทอร์โบ ที่หายใจเข้าออก ‘บูสต์’ ตลอดเวลานั้น นอกจากจะต้องคอยระวังรถซิ่งสาย NA ความจุสูงๆ ที่อาจจะมา ‘สวนเอา’ ได้ทุกเมื่อแล้ว... ก็ยังมีศัตรูอีกหนึ่งตน ที่จะต้องคอยระวังไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ‘อุณหภูมิ’ นั่นเองครับ ใช่แล้ว...นั่นก็เพราะว่าเครื่องยนต์เทอร์โบ และความร้อนนั้น เป็นอะไรที่มาคู่กันอย่างปฏิเสธไม่ได้ สำหรับรถซิ่งโบเดิม...ก็อาจจะขับได้สบายใจหน่อย แต่สำหรับโบซิ่ง-ดันบูสต์ ทั้งหลาย ก็ควรจะเฝ้าสังเกตระดับอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่น่ากลัวที่สุดของสายเทอร์โบ นั่นก็คือ ‘อาการโอเวอร์ฮีท’ นั่นเองครับ

ในเมื่อ ‘อุณหภูมิ’ กลายมาเป็น ‘ขีดจำกัด’ ของเครื่องยนต์สายบูสต์ไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นแล้ว เหล่าสาวก-พกหอยเหล่านี้ ก็ต้องหาวิธีต่างๆ นานาเพื่อมารับมือกับความร้อนที่เปล่งออกมาจากโข่งหลัง ไม่ว่าจะเป็นการใส่อินเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้น, การเจาะรูฝากระโปรงเพื่อระบายความร้อน, การเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่มีเอทานอลผสมอยู่ ซึ่งทุกวิธีที่ผมได้กล่าวมานั้น ฟังดูยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายอยู่พอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกวิธีหนึ่ง ที่สามารถลดอุณหภูมิในห้องเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ นั่นก็คือ การใส่ ‘ผ้าคลุมโข่งหลัง’  

ถ้าพูดถึงห้องเครื่องของเครื่องยนต์เทอร์โบ บริเวณที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นบริเวณ ‘โข่งหลัง’ ของเทอร์โบ ซึ่งเป็นบริเวณที่ไอเสียจากทุกกระบอกสูบไหลมารวมกันเพื่อปั่นกังหันไอเสีย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิที่สูงมากๆ สำหรับรถแข่งที่โมเครื่องมาหนักๆ โข่งหลังอาจจะร้อนถึง 1,000-องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

และความร้อนที่เกิดขึ้นบริเวณโข่งหลังนี่เอง จะแผ่กระจายไปทั่วห้องเครื่อง ทำให้อุณหภูมิโดยรวมมีความร้อนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรถยนต์ที่มีห้องเครื่องขนาดเล็ก ก็จะได้รับผลกระทบจากความร้อนไปแบบเต็มๆ และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือว่า สำหรับเครื่องยนต์ที่มีปากทางเข้าท่อไอดี ‘อยู่ใกล้กันกับ’ โข่งไอเสีย ...ก็จะกลายเป็นว่าเครื่องยนต์ได้หายใจเอาอากาศร้อนๆ เข้าไปในเครื่องยนต์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการตัดตอนแรงม้าโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ยังทำให้เครื่องยนต์มีอุณหภูมิเผาไหม้ที่สูงขึ้น และมีโอกาสที่จะโอเวอร์ฮีทได้ง่ายขึ้น

ว่าแต่ว่า...ผ้าคลุมปริศนาเหล่านี้ มีหลักการทำงานอย่างไร? มันจะช่วยลดอุณหภูมิห้องเครื่องได้จริงหรือไม่? และจะสามารถยืดอายุการใช้งานของเทอร์โบได้จริงหรือเปล่า?

ผ้าคลุมโข่งหลังเทอร์โบนั้น ทำมาจากวัสดุหลายประเภท ซึ่งสามารถทนความร้อนในอุณหภูมิที่ต่างกัน เริ่มตั้งแต่ไฟเบอร์กลาสที่สามารถทนความร้อนไม่เกิน 500 องศาเซลเซียส ถัดมาก็เป็นผ้าคลุมใยเซรามิคที่สามารถทนความร้อนได้ประมาณ 800 องศาเซลเซียส แต่ถ้าจะให้สุด ก็เล่นผ้าคลุมไทเทเนียมไปเลยครับ สามารถทนความร้อนได้สูงราวๆ 1,000 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

ผ้าหลุมโข่งหลัง มีหน้าที่ ‘กักความร้อน’ เอาไว้ ซึ่งเป็นการช่วยลดการแผ่กระจายรังสีความร้อน ทำให้พื้นที่โดยรอบมีอุณหภูมิต่ำลง และแน่นอนว่า อุณหภูมิโดยรวมภายในห้องเครื่อง ก็เย็นลงเช่นเดียวกันครับ ...ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้ง สมรรถนะและอายุการใช้งานของเครื่องยนต์

ว่าแต่ว่า...มันจะเย็นลงแค่ไหนกันนะ? จะคุ้มค่ากับราคาไหม?

 

วันนี้ เพื่อหาข้อพิสูจน์ว่า ‘ผ้าคลุมโข่งหลัง’ สามารถลดความร้อนภายในห้องเครื่องได้จริง เราจะไปดูผลการทดสอบของ YouTuber สายยานยนต์ ที่มีชื่อชาแนลว่า ‘Engineering Explained’ ซึ่งการทดสอบของเขาในครั้งนี้ เป็นการเปรียบเทียบอุณหภูมิภายในห้องเครื่อง โดยใช้เครื่องมือวัดด้วยกันทั้งหมด 2 ประเภท ได้แก่ โพรบวัดอุณหภูมิ (Temperature Probe) และกล้องจับความร้อน (Thermal Camera) เพื่อวัดกันให้เห็นจะๆ ไปเลยว่า ผ้าคลุมโข่งหลังจะสามารถลดอุณหภูมิได้ตามที่โฆษณาไว้หรือไม่?

การทดสอบเริ่มต้นจากการขับออกตัวแบบหนักหน่วงเป็นระยะเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นก็จอดรถและเปิดฝากระโปรงเพื่อใช้กล้องวัดอุณหภูมิ สำหรับผลการทดสอบนั้น เป็นไปตามคาด โดยอุณหภูมิของโข่งหลัง ที่ไม่ได้ใส่ผ้าคลุมนั้น วัดได้เกือบ 500 องศาเซลเซียส ส่วนโข่งหลังที่คลุมผ้าแล้ว วัดอุณหภูมิได้เพียงแค่ 200 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง ความแตกต่างที่มากถึง 300 องศา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผ้าคลุมโข่งหลังสามารถทำหน้าที่ของมันเองได้อย่างดีเยี่ยม เรียกได้ว่าเก็บกักความร้อนดีเกินคาดเลยทีเดียว

^อุณหภูมิของโข่งหลัง ไม่มีผ้าคลุม

 

^อุณหภูมิของโข่งหลัง มีผ้าคลุม

 

นอกจากนั้น แล้ว พวกเขายังได้วัดอุณหภูมิโข่งไอดี ซึ่งอุณหภูมิของโข่งไอดีที่ไม่ใส่ผ้าคลุมอยู่ที่ประมาณ 130 องศาเซลเซียส และหลังจากใส่ผ้าคลุมไปแล้ว โข่งไอดีจึงเย็นลงโดยมีอุณหภูมิประมาณ 110 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ถือว่าเย็นลงไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

^อุณหภูมิของโข่งไอดี ไม่มีผ้าคลุม

 

^อุณหภูมิของโข่งไอดี มีผ้าคลุม

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ทดสอบได้เปิดเผยว่า ถึงแม้อุณหภูมิภายในห้องเครื่องจะลดลงอย่างสังเกตได้ แต่ในแง่ของสมรรถนะการขับขี่แล้ว (วัดจากความรู้สึก) มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งถ้าหากว่ามีการนำรถยนต์ไปขึ้นไดโน่ แรงม้าก็น่าจะเพิ่มขึ้นแต่ก็คงไม่ถึงขั้นหวือหวาอะไรมากมาย

ท่านผู้อ่านสามารถรับชมวิดีโอการทดสอบตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ในวิดีโอข้างล่างนี้เลยครับ

 

วิดีโอ – ผ้าคลุมโข่งเทอร์โบ สามารถเพิ่มสมรรถนะของเครื่องยนต์ได้จริงหรือไม่?

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...