Ariel Atom (แอเรียล อะตอม) รถยนต์เล็กพริกขี้หนูสัญชาติอังกฤษ ได้รับการโมดิฟายจากต้นสังกัด นั่นก็คือบริษัท Ariel (แอเรียล) เพื่อเพิ่มสมรรถนะเชิงแอโรไดนามิคส์ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำหรับรถน้ำหนักเบาอย่าง Ariel Atom โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขับขี่ที่ความเร็วสูงๆ ความเสถียรของตัวรถนั้น ...ลดลงอย่างชัดเจน

 

Ariel ได้นำ เทคนิคต้องห้าม มาใช้กับเจ้าหนูหริ่งอย่าง Atom โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่ม แรงกด หรือที่เรียกว่า ดาวน์ฟอร์ซ (Downforce) นั่นแหละครับ ...โดยเทคนิคที่ว่านี้ ถือเป็นกลโกงที่ถูกสั่งห้ามอย่างเป็นทางการในวงการรถแข่งทั่วโลก

เทคนิคที่ว่านี้ ก็คือ Ground Effect (กราวน์ เอฟเฟค) นั่นเองครับ โดยหลักการของ Ground Effect สำหรับรถแข่งก็คือการสร้าง สุญญากาศ หรือ ความดันค่าลบ (Negative Pressure) ให้เกิดขึ้นในบริเวณ ใต้ท้องรถ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงกดอย่างมหาศาล ตัวรถจะถูกดูดอยู่กับพื้นราวกับว่าเป็นปลาซัคเกอร์เลยทีเดียว เมื่อรถมีแรงกดอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะสามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ความเสถียรของตัวรถก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

 

Ariel Atom คันนี้ ติดตั้งพัดลมไฟฟ้า-ความเร็วสูงทั้งหมด 2 ตัว ซึ่งรับพลังงานมาจากแบตเตอรี่โดยตรง พัดลมทั้งสองตัวนี้จะทำหน้าที่ดูดอากาศที่ใต้ท้องรถ ส่งผลให้บริเวณนั้นเกิดเป็น สุญญากาศ ซึ่งจะดูดรถให้ติดอยู่กับพื้น เป็นผลให้ Ariel Atom คันนี้ สามารถสร้างแรงกดได้มากกว่าเดิมถึง 3 เท่า!!

การใช้พัดลมเพื่อดูดอากาศใต้ท้องรถนี้ ถูกคิดค้นเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว และก็ได้มีการนำมาใช้กับรถแข่ง Formula 1 อย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น รถแข่ง Chaparall 2J และ Brabham BT46B ซึ่งหลังจากรถทั้งสองคันนี้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันอย่างล้นหลาม ก็ได้เกิดการประท้วง จนกระทั่งได้มีการประกาศยกเลิกเทคนิคการสร้างแรงกดโดยใช้พัดลมดูดอากาศ

รถแข่งฟอร์มูล่าวัน - Chaparall 2J

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เทคนิคนี้ก็ได้ถูกปิดผนึกอย่างเป็นความลับจนกระทั่ง Ariel Atom รถสมรรถนะสูงสัญชาติอังกฤษได้ปลุกเสกเคล็ดวิชามารให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

 

รถแข่งฟอร์มูล่าวัน - Brabham BT46B

 

ปกติแล้ว ถ้าหากเราต้องการ ดาวน์ ฟอร์ซ ที่มากขึ้น เราต้องเพิ่ม แอโรพาร์ท ให้ได้มากชิ้นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นลิ้นหน้า วิงหลัง คานาร์ด หรือดิฟฟิวเซอร์ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถสร้างแรงกดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่าลืมว่าแอโรพาร์ทเหล่านี้ ถูกติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ปะทะกับอากาศโดยตรง เพราะฉะนั้น เราจึงได้ แรงต้านอากาศ แถมมาด้วย

แต่สำหรับพัดลมดูดอากาศที่ถูกติดตั้งใน Ariel Atom นั้น เป็นอุปกรณ์ที่ ไม่ได้ ขวางทางอากาศอย่างเช่นแอโรพาร์ทที่ผมกล่าวมาข้างต้น เพราะฉะนั้น พัดลมดูดอากาศจะประทาน ดาวน์ ฟอร์ซ มาให้กับ Ariel Atom แบบเพียวๆ เลยล่ะครับ

 

 

ผลที่ได้จาก ดาวน์ ฟอร์ซ มหาศาลนี้ จะส่งผลให้ Ariel Atom สามารถเข้าโค้งได้เร็วกว่าเดิมเกือบเท่าตัว ..ไม่แน่นะว่า ถ้า Ariel Atom คันนี้ ใส่ยางเกรดเดียวกับรถแข่งสูตรหนึ่งอย่างฟอร์มูล่าวัน เจ้าหนูหริ่งติดใบพัดอย่าง Ariel Atom อาจจะสามารถเข้าโค้งได้เร็วกว่ารถแข่ง F1 ก็เป็นได้นะครับ

 

ท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์หรือ บทความอื่นๆได้ที่ แฟนเพจของเราเลยครับผม

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...