เรียบเรียงโดยJoh Burut

 

ถ้าพูดถึงวงการแต่งรถบ้านเราไทยแลนด์แล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่กระแสเหล็กค้ำกำลังได้รับความนิยมอย่างมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นค้ำโช๊คหรือค้ำตัวถัง แต่ที่ฮอตฮิตที่สุดคงจะหนีไม่พ้นค้ำกากบาท หรือที่เรียกกันว่า เอ็กซ์บาร์(X-Bar) หรือบางคนก็เรียก ครอสบาร์(Cross-Bar) โดยเฉพาะในกลุ่มรถแฮชแบคหรือรถ 5 ประตู เรียกได้ว่าติดเอ็กซ์บาร์กันแทบจะทุกคัน จนผมนึกว่ามันเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งมาให้ตั้งแต่โรงงานเลยทีเดียว

พอใส่เอ็กซ์บาร์เข้าไปแล้วก็ดูเท่ห์ ดูเป็นตัวซิ่งขึ้นมาทันที แต่คำถามก็คือว่า ความจริงแล้วเอ็กซ์บาร์มันมีไว้ทำอะไรกันแน่ วัตถุประสงค์ของมันจริงๆแล้วคืออะไร หรือมันแค่อุปกรณ์ตกแต่ง ใส่แค่หล่อเท่านั้นหรือ

เอ็กซ์บาร์(X-Bar) จัดเป็น ค้ำตัวถัง(Chassis Bars) ประเภทหนึ่ง...ซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกันกับ โรลบาร์ (Roll bar) หรือ โรลเคจ (Roll cage) รวมไปถึง ค้ำหัวโช๊ค (Strut Bars) หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า ค้ำโช๊ค นั่นเองครับ อุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่ม ความแข็งเกร็ง(Rigidity) ให้กับกับตัวถัง โดยอาศัยการลดระยะการ ให้ตัว(เสียรูป)ของตัวถังนั่นเอง

 

ความแข็งเกร็ง คืออะไร

ความแข็งเกร็ง (Rigidity) เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของตัวถังรถยนต์ ตัวถังที่มีความแข็งเกร็งมาก หมายถึง ตัวถังที่มีการให้ตัว(เสียรูป)ที่น้อยมากๆ

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ายังมีผู้อ่านหลายๆท่านที่ยังคงสับสนระหว่าง ความแข็งเกร็ง(Rigidity) กับ ความแข็งแรง(Strength) ...ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆก็ให้ลองเปรียบเทียบระหว่าง ซีเมนต์ และ เหล็ก เป็นที่ทราบกับอยู่แล้วว่า วัสดุทั้งสองชนิดนี้มีความแข็งแรงทางโครงสร้างโดยพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก เราจะพบว่า ซีเมนต์ มีการ ให้ตัว ที่น้อยกว่า เหล็ก ดังนั้น ซีเมนต์ จึงเป็นตัวอย่างของวัสดุที่มีแข็งเกร็ง ส่วนเหล็กนั้น สามารถให้ตัวได้มากกว่า(งอได้และเสียรูปได้) เพราะฉะนั้น เหล็กจึงเป็นตัวอย่างของวัสดุที่มีความแข็งแรง ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า วัสดุที่มี ความแข็งเกร็ง ก็คือ วัตถุที่มีการให้ตัวที่น้อยมากๆ หรือไม่มีการเสียรูปเลยนั่นเอง

 

ทำไมต้องเพิ่มความแข็งเกร็งให้กับตัวถัง

การให้ตัวของตัวถังของรถยนต์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงๆ โดยที่ แรงเหวี่ยงหนีศูนย์ (Centrifugal force) จะผลักให้ตัวถังของรถเคลื่อนที่ไปในทิศตรงข้ามกับทิศทางที่รถกำลังจะเลี้ยว นั่นก็คือ เมื่อรถกำลังจะเข้าโค้งซ้าย ตัวถังจะถูกผลักไปทางด้านขวา ซึ่งจะทำให้ตัวถังเกิดการ ให้ตัว(Deformation) ส่งผลให้มุมล้อเพี้ยนไปจากเดิม เมื่อมุมล้อเพี้ยนก็จะส่งผลให้สมรรถนะในการควบคุมรถลดลงอย่างมาก รวมไปถึงการทรงตัวของรถก็จะไม่มีความเสถียรอีกต่อไป

การเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง มีโอกาสทำให้ตัวถังเกิดการเสียรูป ส่งผลให้มุมล้อเพี้ยนไปจากเดิม

 

อย่างไรก็ตาม การให้ตัวของตัวถังด้านข้างในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงๆเท่านั้น โดยเฉพาะพวกรถแข่งประเภทเซอร์กิต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้ยางสมรรถนะสูงที่มีแรงยึดเกาะได้ดีกว่า ทำให้เข้าโค้งได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้ตัวถังมีการ ให้ตัว มากกว่าปกติ ดังนั้นจึงต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยให้ตัวถังมีความแข็งเกร็งเพิ่มยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น โรลบาร์, โรลเคจ, ค้ำโช้คหน้า-หลัง รวมไปถึงค้ำตัวถังตำแหน่งต่างๆ

อย่างไรก็ดี การให้ตัวที่เกิดขึ้นระหว่างการเข้าโค้งนั้นมีค่าน้อยมาก จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่การให้ตัวนี้สามารถรับรู้ได้จากการตอบสนองของพวงมาลัยเป็นหลัก ...ท่านผู้อ่านหลายคนคงเกิดคำถามในใจว่า อ้าว...มันน้อยมากแล้วทำไมต้องใส่โรลบาร์ ใส่ค้ำตัวถังด้วยล่ะ

จริงอยู่ครับว่าการให้ตัวที่เกิดขึ้นนั้นมีค่าน้อยมากๆ อาจจะแต่ 1-2 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง แต่อย่าลืมว่า ตัวถังให้ตัวได้ 1 มิล มุมล้ออาจะเพี้ยนไป 2-3 องศา แน่นอนว่ามุมล้อเปลี่ยนไปขนาดนั้น การตอบสนองของรถรวมไปถึงอาการของรถมันก็เพี้ยนไปหมด ซึ่งสำหรับการแข่งขันระดับมืออาชีพที่เค้าตัดสินแพ้ชนะกันเป็นเสี้ยววินาทีแล้วล่ะก็ มุมล้อเพี้ยนไป 2-3 องศาเนี่ย อาจจะเปลี่ยนจากคำว่า ชนะ ให้กลายเป็น แพ้ เลยก็ได้นะครับ เพราะฉะนั้น สำหรับรถแข่งแล้ว ความแข็งเกร็งของตัวถังจึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ไม่แพ้เครื่องยนต์และช่วงล่างเลยทีเดียว

 

แต่สำหรับรถยนต์ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไปแล้ว คงไม่มีใครเอาไปเข้าโค้งแรงๆขนาดนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ถึงขนาดกับต้องใส่โรลบาร์แบบเต็มยศ ใส่ค้ำตัวถังแบบเต็มสูตร เนื่องจากรถเดิมๆจากโรงงานจะมีความแข็งเกร็งอยู่พอสมควร ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับรถซิ่งที่มีการอัพเกรดช่วงล่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสปริง เปลี่ยนโช้ค หรือเปลี่ยนยางก็แล้วแต่ ก็ไม่ควรละเลยที่จะเพิ่มความแข็งเกร็งให้กับตัวถัง เนื่องจากการใส่สปริงซิ่งและโช้คซิ่งนั้น จะทำให้รถสามารถตอบสนองต่อพื้นถนนได้ไวกว่าเดิมมาก ส่งผลให้แรงที่กระทำกับล้อสามารถถ่ายทอดไปสู่ตัวถังได้อย่างทันที การถ่ายแรงโดยตรงในลักษณะนี้จะทำให้ตัวถังต้องรับภาระมากกว่าเดิม จึงมีโอกาสที่จะทำให้ตัวถังเสียรูปได้ง่ายขึ้น

ใครที่เคยเปลี่ยนโช๊คซิ่งหรือสตรัทซิ่งคงจะทราบกันดี เปลี่ยนแล้วขับทีหัวสั่นหัวคลอนกันทั้งคัน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าแรงจากล้อถูกส่งผ่านสปริงและโช๊คขึ้นมายังตัวถังโดยตรง ทำให้ตัวถังต้องกลายเป็นตัวรับภาระแทนโช๊คกับสปริงไปโดยปริยาย

สำหรับรถที่มีการอัพเกรดยางก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปใช้ ยางแก้มเตี้ย ...ยางแก้มเตี้ยจะมีการให้ตัวที่น้อยกว่ายางทั่วไป ดังนั้น เมื่อใส่ยางแก้มเตี้ยแล้ว แรงที่กระทำกับยางก็จะถูกส่งผ่านไปยังตัวถังได้มากขึ้นกว่าเดิม หรือพูดง่ายๆก็คือตัวถังจะต้องรับภาระมากกว่าเดิมนั่นเองครับ

 

แล้วประโยชน์ของ X-Bar คืออะไร

เอ็กซ์บาร์ก็คือค้ำตัวถังประเภทหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่เพิ่มความแข็งเกร็งให้กับตัวถัง หลักการทำงานของเอ็กซ์บาร์ก็เหมือนกับหลักการทำงานของค้ำโช๊ค นั่นก็คืออาศัย หลักการถ่ายแรง(Load Transfer) เพื่อกระจายแรงแก่ตัวถังบริเวณต่างๆให้มีค่าใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะว่าถ้าหากไม่มีการกระจายแรงแล้ว ตัวถังรถก็จะเกิดความเครียดที่เดิมๆซ้ำๆ จนทำให้เกิดความเสียหายในที่สุด

ถ้าวิเคราะห์จากโครงสร้างแล้ว เอ็กซ์บาร์เป็นอุปกรณ์ที่สามารถรับแรงได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน นั่นหมายความว่าเอ็กซ์บาร์ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการให้ตัวของตัวถังทั้งใน แนวตั้งและแนวนอน ซึ่งแตกต่างจากค้ำโช๊คตรงที่ว่า ค้ำโช๊คถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการให้ตัวในแนว แกนนอน เป็นหลัก

เอ๊ะ! เดี๋ยวนะ มีคำถาม การให้ตัวในแนวนอนมันเกิดจากการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ว่าแต่ว่า การให้ตัวในแกนตั้งล่ะ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร การให้ตัวในแนวตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อมีแรงแนวตั้งกระทำกับล้อ ไม่ว่าจะเป็นแรงกดขึ้นหรือแรงดึงลง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อขับผ่านพื้นถนนที่ไม่เรียบ เช่น รอยต่อของถนน, คอสะพาน, ลูกระนาด รวมไปถึงการปีนเอเป็กซ์ (Apex) ในสนามแข่ง อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว การให้ตัวแนวตั้งนี้จะเกิดขึ้นน้อยกว่าการให้ตัวในแนวแกนนอน แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรมองข้ามซะเลยทีเดียว

การปีน เอเป็กซ์ ขณะเข้าโค้ง ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ตัวถังเกิดการเสียรูป

 

แล้วสรุปว่า...ควรจะใส่ X-Bar หรือเปล่าล่ะ

สำหรับรถบ้านๆใช้งานแบบเดิมๆ ตัวถังเดิมจากโรงงานนั้นก็มีความแข็งเกร็งเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใส่อุปกรณ์ค้ำตัวถังครับ แต่ถ้าใครที่ชอบซิ่งรถ ชอบเทโค้งแรงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นรถซิ่งที่มีการอัพเกรดช่วงล่างมาใหม่ เช่น เปลี่ยนสปริง เปลี่ยนโช้ค หรือเปลี่ยนยาง ซึ่งการอัพเกรดช่วงล่างให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้ตัวถังต้องรับภาระมากกว่าปกติ ส่งผลให้ตัวถังมีโอกาสที่จะเสียรูปได้ง่ายกว่าปกติ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเพิ่มความแข็งเกร็งโดยการเพิ่มอุปกรณ์ค้ำตัวถัง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเอ็กซ์บาร์เท่านั้นนะครับ ค้ำโช้คหน้า ค้ำโช้คหลัง ค้ำเสาซีก็ได้ แต่ถ้าเป็นเอ็กซ์บาร์มันก็จะดีหน่อยตรงที่สามารถป้องกันการให้ตัวได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

นอกจากจะช่วยให้รถมีสมรรถนะการขับขี่ที่ดีขึ้นแล้ว การที่ตัวถังมีความแข็งเกร็งจะทำให้ตัวถังมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น เพราะว่าเนื่องจาก เมื่อตัวถังสามารถให้ตัว(ยืด-หด)ได้ตลอดเวลานั้น จะเกิดการสะสมความเครียดไว้ในเนื้อวัสดุ ซึ่งในทางวิศวกรรมเรียกว่า Repeated load จะทำให้ตัวถังเกิดความเสียหายได้เร็วกว่าปกติและมีโอกาสที่จะทำให้เกิดเสียงดังอีกด้วย

เพราะฉะนั้น สำหรับรถแข่งและรถซิ่งแล้ว การใส่เอ็กซ์บาร์และอุปกรณ์ค้ำตัวถังชรนิดอื่นๆ จะช่วยลดแรงดังกล่าว ส่งผลให้ตัวถังมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น นอกจากนั้นเอ็กซ์บาร์ยังถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์เซฟตี้ที่มีประสิทธิภาพอีกอันหนึ่ง ซึ่งสามารถช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับห้องโดยสารในกรณีที่เกิดการชนด้านข้าง หรือกรณีที่รถเกิดการพลิกคว่ำอีกด้วยครับ

จะเห็นได้ว่าเอ็กซ์บาร์มีข้อดีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเอ็กซ์บาร์ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างถูกต้อง อาจจะกลายเป็นแค่ท่อนเหล็กเอาไว้ตากผ้า หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ มันอาจจะไปทำให้ตัวถังรถเกิดความเครียดมากกว่าเดิมอีก ประกอบกับการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานอาจจะทำให้ข้อต่อมีการสั่นคลอนและเกิดเสียงดังน่ารำคาญ

สุดท้ายและท้ายสุดนั้น จะใส่หรือไม่ใส่...ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่านผู้อ่าน ถ้าใจรักในรถซิ่งก็จัดไปโลด โดยเฉพาะรถ 5 ประตู ใส่แล้วเท่ห์จริงผมขอบอก ฮ่าๆๆ

ท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์หรือ บทความอื่นๆได้ที่ แฟนเพจของเราเลยครับผม

 

เรียบเรียงโดยJoh Burut

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...