บทความนี้สนับสนุนโดย Motys Oil Thailand
ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้ เกียร์อัตโนมัติแบบคลัตช์คู่ (Dual Clutch Transmission) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นอีโคคาร์ขนาดเล็ก รถบ้านขนาดกลาง ไปจนถึงซุปเปอร์คาร์แรงม้าสูง และด้วยข้อได้เปรียบในเรื่องของสมรรถนะการส่งกำลัง ความเร็วในการเปลี่ยนเกียร์ รวมไปถึงความสะดวกสบายในการใช้งาน ส่งผลให้ เกียร์คลัตช์คู่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
เกียร์ DCT นั้น ถึงแม้จะมีชื่อเรียกแตกต่างออกไปตามผู้ผลิต แต่เกียร์คลัตช์คู่ต่างพ่อต่างแม่เหล่านี้ ก็มีกลไกการทำงานที่เหมือนกัน โดย PORSCHE เรียกเกียร์ประเภทนี้ว่า PDK, VOLKSWAGEN เรียกว่า DSG, AUDI เรียกว่า S-Tronic ส่วน MERC BENZ เรียกว่า SpeedShift เพราะฉะนั้น หากว่าได้ยินชื่อเหล่านี้ ก็ให้เข้าใจตรงกันว่ามันคือเกียร์คลัตช์คู่ DCT นั่นหล่ะครับ
เกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียกของ PORSCH (PDK)
เกียร์ DCT นั้น หลักๆ แล้วก็จะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท นั่นก็คือ DCT คลัตช์แห้ง และ DCT คลัตช์เปียก นั่นเองครับ DCT ทั้งสองประเภทนี้ ถึงแม้จะมีโครงสร้างที่ต่างกัน แต่หลักการทำงานนั้น...เหมือนกันครับ
และในวันนี้ เราจะไปเจาะลึกหลักการทำงานของเกียร์ DCT ทั้งแบบคลัตช์คู่และคลัตช์เปียก โดยผมจะทำการเปรียบเทียบเป็นหัวข้อๆ ไป ตั้งแต่ในเรื่องของความสามารถในการรับแรงบิด ความนุ่มนวลในการส่งกำลัง และหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจ ลองไปชมกันครับว่าระหว่างสายเปียกกับสายแห้ง ใครจะเหนือกว่ากัน!
หัวข้อที่ 1 การระบายความร้อน
แน่นอนว่า สำหรับหัวข้อนี้ เกียร์คลัตช์คู่แบบเปียก เป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียกนั้น ได้มีการนำเอาแผ่นคลัตช์ไปจุ่มลงในน้ำมันเกียร์อย่างชุ่มฉ่ำ นอกจากนั้นยังมีระบบไหลเวียนน้ำมันเกียร์ เพื่อนำเอาความร้อนส่วนเกินออกจากระบบเกียร์ ส่งผลให้เกียร์ DCT คลัตช์เปียก สามารถระบายความร้อนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
เส้นทางการไหลวนของน้ำมัน (สีน้ำเงิน) ในเกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียก
ในทางตรงกันข้าม สำหรับเกียร์ DCT แบบคลัตช์แห้งแล้ว ไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่ากับแบบคลัตช์เปียก จึงเกิดปัญหาความร้อนสะสม ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่เรียกว่า คลัตช์ลื่น (Clutch Slippage) เป็นผลให้การส่งกำลังไม่เต็มที่แบบ 100% อีกทั้งยังมีโอกาสทำให้แผ่นคลัตช์สึกหรอเร็วกว่าปกติอีกด้วย
หัวข้อที่ 2 - ความสามารถในการรับแรงบิด
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่าน ต้องคิดว่า DCT แบบคลัตช์แห้ง สามารถรับแรงบิดได้มากกว่าแน่นอน แต่ทว่า ความจริงแล้ว กลับเป็น DCT แบบคลัตช์เปียกที่สามารถรองรับแรงบิดได้มากกว่า...
ท่านผู้อ่านคงจะเกิดคำถามในใจว่า เอ้า...แบบคลัตช์เปียก มันก็ ลื่น ไม่ใช่เหรอ มันจะรองรับแรงบิดมากๆ ได้ยังไง
ความจริงแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียก สามารถรองรับแรงบิดได้มากกว่านั้น เป็นผลประโยชน์ทางตรงจากข้อได้เปรียบประการที่หนึ่ง นั่นก็คือว่าเกียร์คลัตช์เปียกสามารถระบายความร้อนได้อย่างรวดเร็วนั่นเองครับ
ปกติแล้ว เมื่อมีการส่งกำลังอย่างมหาศาลผ่านแผ่นคลัตช์ จะเกิดความร้อนที่บริเวณหน้าแผ่นคลัตช์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าหากว่าความร้อนมีค่าเกินกว่าที่กำหนด มันจะทำให้คลัตช์เกิดอาการลื่น และไม่สามารถส่งกำลังได้อีกต่อไป
สำหรับเกียร์ DCT คลัตช์เปียกแล้ว เนื่องจากว่ามันสามารถระบายความร้อนแผ่นคลัตช์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกียร์สายเปียก สามารถส่งแรงบิดได้อย่างมหาศาลโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าแผ่นคลัตช์จะเกิดอาการ โอเวอร์ฮีท แต่อย่างใด เรียกได้ว่าตราบเท่าที่น้ำมันยังไหลวนนำความร้อนออกมาได้อย่างพอเพียง จะพันม้า หรือสองพันม้า เกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียกก็ ไม่หวั่นแม้วัน ม้า มาก
และนี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมรถยนต์แรงม้าสูงๆ อย่างรถยนต์ซุปเปอร์คาร์ จึงตัดสินเลือกเกียร์ DCT คลัตช์เปียกมาถ่ายทอร์ดแรงบิดมหาศาลอย่างไว้เนื้อเชื่อใจ
McLaren 12C ใช้เกียร์ DCT 7-สปีด แบบคลัตช์เปียก
NISSAN GTR ใช้เกียร์ DCT 6-สปีด แบบคลัตช์เปียก
รองรับแรงบิดได้ 810-นิวตันเมตร (รหัสเกียร์ GR6)
สำหรับเกียร์ DCT คลัตช์แห้ง ที่มาพร้อมกับรถยนต์ส่วนบุคคล (รถยนต์ขนาดเล็ก) โดยทั่วไปนั้น สามารถรองรับทอร์คได้ประมาณ 240-280 นิวตันเมตร ในขณะเดียวกัน เกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียกที่มากับรถยนต์ขนาดเล็ก สามารถรองรับแรงบิดได้เพียง 170 นิวตันเมตรเท่านั้นเอง
ถึงแม้ว่าเกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียก สามารถระบายความร้อนและสามารถรับแรงบิดได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบ เหล่านี้จะกลายมาเป็น ข้อเสียเปรียบ ไปโดยทันที่ ถ้าเกิดว่า น้ำมันเกียร์ที่ใช้อยู่นั้น ไม่มีคุณภาพสูงเพียงพอที่จะดึงเอาสมรรถนะของเกียร์ DCT มาใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เพราะฉะนั้นในวันนี้ ผมก็เลยขออนุญาตมาแนะนำน้ำมันเกียร์คลัตช์คู่คุณภาพสูงจาก Motys นั่นก็คือ น้ำมัน DCF M351, M352 และ M353ที่สามารถใช้ได้ทั้งเกียร์ DCT แบบคลัตช์คู่และคลัตช์เปียก ด้วยค่าความหนืดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้น้ำมันเกียร์สามารถทนความ ร้อนได้มากกว่าปกติ และยังสามารถรักษาความหนืดทั้งที่อุณหภูมิต่ำและสูงได้อย่างเสถียร รวมไปถึง ยังสามารถถ่ายทอดกำลังได้นุ่มนวลกว่า ซึ่งสามารถเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนสำหรับเกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียก ซึ่งจะมีอาการกระตุกเพิ่มขึ้นตามอายุการใช้งาน
โดยน้ำมันเกียร์ M351 และ M352 นั้น เหมาะสำหรับรถบ้านโดยทั่วไป รวมไปถึงรถที่ได้รับการโมดิฟายมาพอสมควร และสามารถใช้ครอบคลุมไปถึงรถแข่งสมรรถนะสูง สำหรับ M353 นั้น เหมาะสำหรับรถแข่งที่ได้รับการโมดิฟายเครื่องยนต์มาอย่างเต็มรูปแบบ สามารถรองรับแรงม้าได้สูงระดับ 1,200-แรงม้า สามารถป้องกันอาการคลัตช์ลื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดการสึกหรอของชุดเกียร์ให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว Motys ยังได้ร่วมพัฒนาน้ำมันเกียร์ให้กับสำนักรถแต่งยุโรปชื่อดังอย่าง MTM ที่ช่ำชองในการโมดิฟายเครื่องยนต์สมรรถนะสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AUDI MTM เรียกได้ว่าใช้งานได้อย่างครอบคลุมทั้งม้าญี่ปุ่นและม้ายุโรป แบบไม่ต้องกลัวคลัทช์ลื่นเลยครับผม...ท่านผู้อ่านที่สนใจในตัวผลิตภัณฑ์ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Motys Oil Thailand ได้โดยตรงเลยครับ
หัวข้อที่ 3 ความนุ่มนวลในการส่งกำลัง
ในหัวข้อนี้ เกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียก ก็เป็นฝ่ายได้เปรียบอีกเช่นเคย เพื่อเนื่องจากว่าระหว่างแผ่นคลัตช์ที่ซ้อนเรียงกันเป็นตับนั้น เป็นช่องว่างที่ถูกเติมเต็มด้วยน้ำมันเกียร์ ซึ่งทำหน้าที่เหมือน ลดการเสียดสีแบบฉับพลันทันที ส่งผลให้เกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียก มีการต่อเกียร์ที่นุ่มนวล และไม่กระด้างมากเท่ากับเกียร์แบบคลัตช์เปียกนั่นเองครับ
Mercedes-Benz AMG GT S ใช้เกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียก 7-สปีด
เพื่อความนุ่มนวลในการส่งกำลังและสามารถรองรับทอร์คได้สูงถึงมากกว่า 500 นิวตันเมตร
นอกจากนั้นแล้ว สำหรับรถยนต์ในคลาสสูงๆ ที่ให้ความสำคัญกับความสมูทในการขับเคลื่อนเหนือสิ่งอื่นใด ก็จะมีการนำเอา ทอร์ค คอนเวิร์ตเตอร์ มาขั้นกลางระหว่างเครื่องยนต์กับเกียร์ โดยเจ้า ทอร์ค คอนเวิร์ตเตอร์ ก็จะช่วยทำหน้าที่ลดอาการช็อค หรืออาการกระตุกที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง GM ก็ได้อันเชิญ ทอร์ค คอนเวิร์ตเตอร์ มาประจำการอย่างไม่ลังเล นอกจากนั้นแล้ว ค่ายรถยนต์แดนปลาดิบอย่าง HONDA ก็เห็นพ้องต้องกัน และได้มีการนำเอา ทอร์ค คอนเวิร์ตเตอร์ มาใช้งานเพื่อลดอาการเกียร์กระตุกเช่นเดียวกันครับ
หัวข้อที่ 4 - อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน
ระบบส่งกำลังถือเป็นอีกหนึ่งในระบบ ที่มีผลกระทบกับอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเป็นอันดับต้นๆ รถยนต์ที่ประหยัดน้ำมันนั้น นอกจากจะต้องมีเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว ระบบเกียร์เอง ก็ต้องสามารถถ่ายทอดกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน พูดง่ายๆ ก็คือว่า แรงม้า ต้องเดินได้สะดวก ไม่ว่าระบบเกียร์จะรับแรงม้า-แรงบิดจากเครื่องยนต์มาเท่าไหร่ ก็ควรจะส่งออกไปให้ได้เท่าเดิม ไม่เกี่ยง ไม่กั๊ก ไม่เก็บ...
ระบบเกียร์ที่ดีนั้น นอกจากจะต้องมีอัตราทดที่สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์แล้ว ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งประการก็คือว่า ต้องมีแรงเสียดทานต่ำ และเนื่องจากว่าเกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียกนั้น ต้องอาศัยปั๊มแรงดันเพื่อสูบน้ำมันเกียร์ให้ไหลวนไปยังแผ่นคลัตช์ และการใช้กำลังของเครื่องยนต์เพื่อไปปั่นปั๊มน้ำมันเกียร์นั้น ทำให้เกิดการสูญเสียโดยใช่เหตุ อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันจึงแย่ลงอย่างปฏิเสธไม่ได้
ในทางตรงกันข้าม สำหรับเกียร์ DCT แบบคลัตช์แห้งนั้น ไม่จำเป็นต้องมีระบบหมุนเวียนน้ำมันเกียร์เพื่อมาหล่อเย็นแผ่นคลัตช์ เกียร์ DCT จึงสามารถรับกำลังจากเครื่องยนต์ และส่งต่อให้กับชุดเฟืองท้ายโดยที่ไม่มีสูญเสียกำลังเชิงกลใดๆ (สูญเสียน้อยมากๆ) ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ทำให้เกียร์ DCT แบบคลัตช์แห้ง มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันที่ ประหยัด กว่า DCT แบบคลัตช์เปียกนั่นเองครับ
หัวข้อที่ 5 ต้นทุนการผลิต
สำหรับหัวข้อนี้ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราๆ ในฐานะผู้บริโภคโดยตรง แต่เกี่ยวข้องทางอ้อมในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการซ่อมแซม แน่นอนว่าเกียร์คลัตช์แห้งนั้น เป็นระบบที่มีกลไกไม่ซับซ้อนมากนัก ทำให้มีจำนวนชิ้นส่วนที่น้อยกว่า ดังนั้น โดยรวมแล้ว เกียร์ DCT แบบคลัตช์แห้ง จึงมีค่าบำรุงรักษาที่ถูกกว่าอย่างปฏิเสธไม่ได้
โครงสร้างและอุปกรณ์ภายของเกียร์ DCT คลัตช์เปียก
สำหรับเกียร์คลัตช์คู่แบบเปียกนั้น จะต้องอาศัยน้ำมันเกียร์เป็นตัวช่วยระบายความร้อน ถ้าปั๊มเริ่มตันหรือน้ำมันไหลได้ยากแล้วล่ะก็ น้ำมันที่ไปเลี้ยงระบบก็จะไม่เพียงพอ จนในที่สุด แผ่นคลัตช์ก็จะเกิดการสึกหรอเกินกว่าที่ควรจะเป็น และด้วยการมีกลไกที่ซับซ้อน และมีชิ้นส่วนประกอบที่มากชิ้นกว่า ทำให้เกียร์คลัตช์คู่แบบเปียก มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการซ่อมแซมที่มากกว่านั่นเองครับ
และทั้งหมดนี้ ก็คือข้อเปรียบและข้อเสียเปรียบของเกียร์ DCT แบบคลัตช์เปียกและคลัตช์แห้ง หวังว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจหลักการทำงาน รวมไปถึงจุดเด่น-จุดด้อยของเกียร์ DCT ได้ชัดเจนขึ้น สำหรับบทความนี้ ก็คงขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ และท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความเชิงเทคนิคแนวๆ นี้ ได้โดยตรงทาง แฟนเพจ Johs Autolife ได้เลยครับ
และสำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจในผลิตภัณฑ์ของ Motys ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ หรือน้ำมันคลัตช์ ก็สามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ แฟนเพจ Motys Oil Thailandหรือเข้าไปเยี่ยมชมเว็ปไซต์ของ Motys ได้ทางhttps://motysthailand.wordpress.com/