เรียบเรียงโดยJoh Burut

 

 

หลายๆคนคงเคยสงสัยว่า ทำไมรถแฮทช์แบคส่วนใหญ่ถึงมีที่ปัดน้ำฝนหลังติดตั้งมาจากโรงงาน แต่สำหรับรถซีดานแล้ว แทบจะไม่มีรถรุ่นไหนติดมาให้เลย ...คิดแล้วก็น่าสงสัย ทำไมถึงเป็นแบบนี้นะ

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงจะทราบคำตอบของคำถามนี้แล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่ทราบ เชิญค้นหาคำตอบได้ในบทความนี้เลยครับ

คิดๆแล้วมันก็น่าแปลก เพราะว่ากระจกหลังของรถแฮทช์แบคจะมีความชันมากกว่า เมื่อฝนตกแล้ว น้ำฝนจะไหลผ่านลงไปอย่างรวดเร็ว และจะไม่มีเม็ดน้ำฝนเกาะตามกระจก เพราะฉะนั้น รถแฮทช์แบคไม่ต้องมีใบปัดน้ำฝนหลังก็ได้หนิ แต่ว่าทำไม รถแฮทช์แบคเกือบทุกค่ายถึงติดที่ปัดน้ำฝนหลังมาให้นะ

ในทางตรงกันข้าม กระจกหลังของรถซีดานจะมีความลาดเอียงกว่ามาก แถมยังมีขนาดใหญ่กว่ามาก เมื่อฝนตกแล้ว เม็ดฝนจะไหลลงมาช้ากว่า และในบางครั้งที่ฝนตกปรอยๆ เม็ดฝนเกาะกระจกจนแทบจะมองไม่เห็นข้างหลังเลย ว่าแต่ว่า...ทำไมรถซีดานส่วนใหญ่ถึงไม่มีใบปัดน้ำฝนหลังล่ะ นั่นดิ ยิ่งคิดยิ่งงง

จากข้อสมมติฐานข้างต้น เราสามารถสรุปได้ว่า ใบปัดน้ำฝนหลังนั้น ไม่จำเป็นสำหรับรถแฮทช์แบค แต่ทำไมโรงงานเค้าถึงติดตั้งมาให้ ในทางตรงกันข้าม รถซีดานควรจะมีใบปัดน้ำฝน แต่ว่ามันก็ไม่มี

ความจริงแล้ว ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของคำถามนี้ ไม่ได้อยู่ที่ เม็ดฝน แต่มันคือ แอโรไดนามิคส์ นั่นเองครับ แอโรไดนามิคส์ของรถแฮทช์แบคและซีดานนั้นมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะการไหลของอากาศบริเวณท้ายรถ ซึ่งการไหลของลมที่บริเวณท้ายรถนี่เอง จะเป็นตัวกำหนดว่า รถคันนั้นๆมีความจำเป็นที่จะต้องมีใบปัดน้ำฝนด้านหลังหรือไม่

เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ ผมจะขอหยิบยก Mazda 3 ตัวใหม่ ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2014 มาเป็นตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์การไหลของลม พร้อมทั้งเปรียบเทียบการทิศทางการไหลของอากาศที่เกิดขึ้นในบอดี้ซีดานและแฮทช์แบค

แน่นอนว่า Mazda 3 เวอร์ชั่นแฮทช์แบคนั้น มีการติดตั้งใบปัดน้ำฝนหลังมาให้ทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นต่ำสุดไปจนถึงรุ่นท็อป แต่สำหรับเวอร์ชั่นซีดานนั้น ไม่มีใบปัดน้ำฝนมาให้เลยแม้แต่รุ่นเดียว

สังเกตจากรูปข้างบน สำหรับรถแฮทช์แบค อากาศที่ไหลบริเวณท้ายรถจะเกิดเป็นลมหมุน ซึ่งลมหมุนนี้เองจะพัดเอาละอองน้ำและละอองฝุ่นขึ้นมาจากถนนและไปเกาะอยู่ที่กระจกหลัง เป็นผลให้ทัศนวิสัยของกระจกหลังแย่ลงอย่างมาก เพราะเหตุนี้จึงต้องมีการติดตั้งใบปัดน้ำฝนหลังมาให้นั่นเองครับ

สำหรับการไหลของอากาศของรถซีดาน ก็เกิดเป็นลมหมุนเช่นเดียวกัน แต่ทว่าเป็นลมหมุนที่มีขนาดเล็กกว่ามาก ลมหมุนเหล่านี้จะพัดเอาละอองฝุ่นขึ้นมาจากถนนเช่นเดียวกัน แต่จุดที่น่าสังเกตก็คือ ลมหมุนที่เกิดขึ้นหลังรถซีดานจะไม่พัดขึ้นไปที่กระจกหลัง แต่จะหมุนวนอยู่ที่บริเวณกันชนหลังเท่านั้น เพราะฉะนั้น กระจกหลังของรถซีดานจึงไม่ค่อยมีละอองฝุ่นมาเกาะ และจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้ที่ปัดน้ำฝนหลัง

อย่างไรก็ดี มีรถซีดานบางคันที่ถูกติดตั้งใบปัดน้ำฝนหลังมาจากโรงงาน ยกตัวอย่างเช่น มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีโวลูชั่น 8 (Mitsubishi Lancer Evolution VIII) จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่ากระจกหลังของ Lancer คันนี้มีความชันมากกว่ารถซีดานโดยทั่วไป เพราะเหตุนี้ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดลมหมุนที่สูงขึ้นมาถึงกระจกหลัง และเนื่องจากแลนเซอร์อีโวคันนี้ เป็นรถสายพันธุ์แรลลี่ที่ต้องคลุกฝุ่นคลุกโคลนอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการติดตั้งใบปัดน้ำฝนเพื่อใช้ทำความสะอาดกระจกหลังนั่นเอง

cloudlakes.com

 

เพราะฉะนั้น เราสามารถสรุปได้ว่า ใบปัดน้ำฝนด้านหลังนั้น หลักๆแล้วใช้สำหรับทำความสะอาดฝุ่นที่มาเกาะกระจกหลังมากกว่าจะใช้ปัดน้ำฝน และนอกจากนั้น เรายังสามารถสรุปได้ว่า ความจำเป็นในการติดตั้งใบปัดน้ำฝนหลังนั้น ขึ้นอยู่กับมุมลาดเอียงของกระจกหลัง ถ้ารถคันไหนมีมุนลาดเอียงมาก(รถซีดานส่วนใหญ่) ก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งที่ปัดน้ำฝนหลัง แต่ถ้ารถคันไหนที่มีกระจกหลังทำมุมเกือบจะตั้งฉากกับพื้นถนน(รถแฮทช์แบคส่วนใหญ่) จึงมีความจำเป็นต้องติดตั้งใบปัดน้ำฝนหลัง เพื่อทำความสะอาดละอองฝุ่นบริเวณกระจกซึ่งเกิดจากลมหมุนบริเวณท้ายรถนั่นเองครับ

ท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความดีดีเกี่ยวกับยานยนต์ พร้อมกับอัพเดทข่าวสารวงการยานยนต์ได้ที่ แฟนเพจของเราเลยครับผม

ขอบคุณครับ :)

 

เรียบเรียงโดยJoh Burut

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...