เรียบเรียงโดยJoh Burut

 

 

บทความนี้ เรียบเรียงมาจากวิดีโอการทดสอบของสำนัก Esprit โดยโปรเจคคาร์คันนี้ คือรถยนต์ขับหน้าที่สร้างชื่อเสียงในสนามแข่งมาอย่างยาวนาน และในปัจจุบันก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งสายสตรีทและสายสนาม นั่นก็คือ Honda Civic EK9 นั่นเองครับ

สำหรับการทดสอบในวันนี้ เป็นการวิ่งจับเวลาในสไตล์ ไทม์-แอทแทค (Time Attack) เพื่อทดสอบเปรียบเทียบว่า ระหว่างการติดตั้ง วิงหลัง ให้กับรถขับหน้า มันจะกลายเป็น ผลดี หรือ ผลเสีย กันแน่

 

 

และสำหรับท่านผู้อ่านที่กำลังสงสัยว่า ทำไมผมจะต้องเน้นคำว่า รถขับหน้า นั่นก็เพราะว่า สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าแล้ว การติดตั้งวิงหลัง (โดยไม่ได้มีการบาลานซ์แรงกดหน้า-หลัง) จะส่งผลให้เกิดผลเสียต่อแอโรไดนามิคส์ของตัวรถ เนื่องจากว่าแรงกดที่สร้างได้นั้น จะกดลงที่ล้อหลัง ซึ่ง ไม่ใช่ ล้อขับเคลื่อน โดยทางทฤษฎีแล้ว การติดตั้งวิงหลังในลักษณะนี้ ไม่ได้ส่งผลดี ต่อสมรรถนะของตัวรถเท่าไหร่นัก...

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดว่าเราติดวิงหลัง ให้กับรถขับหลัง แน่นอนว่าแรงกดได้สร้างได้นั้น จะกดลงที่ ล้อหลัง ซึ่งเป็นล้อขับเคลื่อน เพราะฉะนั้นแล้ว รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง ก็จะได้ประโยชน์จากแรงกดไปแบบเต็มๆ เลยครับ

 

สำหรับท่านผู้อ่านที่อยากจะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอโรไดนามิคส์ของสปอยเลอร์ ผมแนะนำให้ไปอ่านบทความเรื่อง รถขับหน้า + วิงหลัง = เร็วขึ้นหรือช้าลงซึ่งจะทำให้เข้าใจหลักอากาศพลศาสตร์เบื้องต้นของรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า และจะทำให้เข้าใจเนื้อหาของบทความนี้ ได้ดียิ่งขึ้นครับ

 

 

เอาล่ะครับ มาเข้าเรื่องกันเถอะ รถแข่งที่ทำการทดสอบในครั้งนี้ คือ EK9 ของสำนัก Esprit ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็น Time Attack Machine โดยเฉพาะ ...เครื่องยนต์ B16B ได้บอกเลิกการดูดอากาศแบบ N/Aและหันมาใช้เครื่องช่วยหายใจประเภทเทอร์โบชาร์จเจอร์ ส่งผลให้สามารถสร้างแรงม้าได้ราวๆ 460-แรงม้า

โดยการทดสอบในครั้งนี้ จัดขึ้นที่สนามระดับตำนานอย่าง Tsukuba Circuit โดยการวิ่ง Time Attack จะแบ่งออกเป็น 2-Section ตอนแรกจะเป็นการวิ่งจับเวลาโดย ใส่หางหลัง ส่วนตอนหลังจะเป็นการวิ่งจับเวลาแบบ ไม่ใส่หางหลัง และนักแข่งที่มาประจำการใน EK คันนี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เค้าก็คือMax Orido นั่นเองครับ

 

 

ว่าแล้วก็...ลองไปชมวิดีโอกันเลย

 

วิดีโอ - Esprit Civic EK9 Turbo 465Hp Tsukuba Super Lap

 

จากการทดสอบจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ขณะที่วิ่งแบบ ใส่วิงหลัง รถแข่งจะสามารถสร้างดาวน์ฟอร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโค้งความเร็วสูง (โค้งสุดท้ายก่อนเข้าทางตรง) ในขณะเดียวกัน ตัวรถยังมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งในจังหวะเร่งออกจากโค้งและเบรกเพื่อเข้าโค้ง

 

ไม่ใส่วิงหลัง - ยางหลังสูญเสียแรงยึดเกาะในโค้งความเร็วสูง

 

ในทางตรงกันข้าม ขณะที่ ไม่ใส่วิงหลัง อาการโอเวอร์เสตียร์จะถามหาบ่อยครั้งขึ้น เป็นผลมาจากการที่ล้อหลังไม่สามารถสร้างแรงยึดเกาะได้อย่างเพียงพอ ท้ายปัด-ท้ายดิ้น ตั้งแต่เข้าโค้งไปจนถึงออกโค้งเลยทีเดียว จนกระทั่งเป็นผลให้พี่ Max ของเรา หมุนติ้วในโค้งสุดท้าย จนรถเกือบจะหลุดออกจากแทร็ค นอกจากนั้นแล้ว การไม่ใส่วิง ยังทำให้รถยังเสียบาลานซ์ในจังหวะเบรกก่อนเข้าโค้ง เป็นผลนักแข่งต้องเสียเวลาแก้อาการ ทำให้ไม่สามารถทำความเร็วในโค้งได้อย่างเต็มที่

 

คานาร์ดซ้าย-ขวา

 

มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะเข้าใจ วิงหลัง นั้น เป็นแอโรพาร์ทที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะให้กับรถขับหน้าได้อย่างไม่มีข้อกังขา อย่างไรก็ตาม อย่าลืมนะครับว่า รถแข่ง EK จากทีม Esprit นั้น ได้ทำการติดตั้ง คานาร์ด (Carnards) และ แอร์-แดม (Air dam) ซึ่งเป็นแอโรพาร์ทที่ติดตั้งไว้ที่ด้านหน้าของตัวรถ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสมดุลแรงกดหน้า-หลังเป็นที่เรียบร้อย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือว่า วิงหลังนั้น จะ เป็นมิตร กับรถขับหน้า ก็ต่อเมื่อ... ตัวรถได้ทำการ บาลานซ์-ดาวน์ฟอร์ซ อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วเท่านั้น

สำหรับบทความนี้ ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อย ท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความเชิงวิเคราะห์ อ่านเพลินๆ สาระครบๆ ได้โดยตรงที่ แฟนเพจ Joh's Autolifeได้เลยครับผม

 

เรียบเรียงโดยJoh Burut

 

 

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...