เรียบเรียงโดยJoh Burut

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ หลักอากาศพลศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ และนี่ก็เป็นจุดกำเนิดของ แอโรพาร์ท มากมายหลายชิ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกบรรจงติดตั้งไว้รอบคันรถเพื่อเพิ่ม แรงกด ... เพื่อลด แรงต้าน ... รวมไปถึง เพื่อสร้าง แรงดึงดูด (ทางสายตา)

และในวันนี้ เราก็จะโฟกัสไปที่แอโรพาร์ทยอดนิยมอย่าง สปอยเลอร์ หรือจะเรียกว่า วิง หรือ หางหลัง ก็แล้วแต่... โดยในบทความนี้ ผมได้รวบรวม 5 อันดับ สปอยเลอร์ สุดแนว ที่ติดตั้งมาจากโรงงาน ลองไปชมกันครับว่า... วิงสุดแนว เหล่านี้ จะเป็นของรถคันไหนกันบ้าง

อันดับที่ 5 1970 Plymouth Superbird

อเมริกัน-มัซเซิล ในตำนานอีกหนึ่งคันที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร อินทรีย์เหล็กคันนี้ มาพร้อมกับหางหลัง ยกสูง-ขนาดใหญ่ ที่สำคัญก็คือว่า Superbird คันนี้ ถือเป็นรถยนต์รุ่นแรกๆ ที่ได้รับการออกแบบตามหลัก อากาศพลศาสตร์ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการทดสอบในอุโมงค์ลม ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ... บอดี้แบบลู่ลมเพื่อลดแรงต้านอากาศ และสปอยเลอร์ยกสูงนั้น ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อเรียกความสนใจแต่เพียงเท่านั้น แต่มันคือ แอโรพาร์ท ที่สามารถสร้าง แรงกด ได้อย่างมหาศาล ...สมแล้วที่มีชื่อว่า 'พญานก -Superbird

Superbird คันนี้ ได้รับการโมดิฟายต่อยอดมาจาก Plymouth Road Runner และได้รับการพัฒนาเพื่อให้มีสมรรถนะใกล้เคียงกับรถแข่ง NASCAR เพราะฉะนั้น Superbird มันก็คือรถแข่งดีๆ นี่เอง แต่ว่ามันสามารถวิ่งบนถนนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใต้ฝากระโปรงคือเครื่องยนต์ขนาดยักษ์ความจุ 7-ลิตร ดูดหายใจเองแบบเพียวๆ โดยไม่อาศัยระบบอัดอากาศ ...ซึ่งถือเป็น ธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับรถมัซเซิล-คาร์ในสมัยนั้น

อันดับ 4 2014 McLaren P1

สปอยเลอร์รูปทรงโค้ง-เว้า ประหลาดตานี้ ประจำการอยู่ที่บั้นท้ายของ McLaren P1 รถยนต์ไฮบริด-ไฮเปอร์คาร์จากแดนผู้ดี P1 ขึ้นชื่อในเรื่องของ แอโรไดนามิคส์ จนเรียกได้ว่า มันเป็นรถที่เกิดจาก อุโมงค์ลม อย่างแท้จริง ทุกส่วนที่มองเห็นได้จากภายนอกนั้น ถูกออกแบบตามหลักพลศาสตร์ แทบจะทุกตารางเซนติเมตร

สปอยเลอร์รูปร่างคล้าย ใบไม้ ที่เราเห็นอยู่นี้ คือ สปอยเลอร์แบบแอคทิฟ (Active Spoiler) ถูกควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิคส์ สามารถปรับระดับสูง-ต่ำ และปรับองศาให้สัมพันธ์กับความเร็วที่ใช้ได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถ แรงกด ได้อย่างเหมาะสมกับทุกสภาวะการขับขี่ ...นี่สิ! ถึงจะเรียกว่า ไฮเปอร์คาร์ ได้อย่างเต็มปาก!

อันดับ 3 1992 Ford Escort RS Cosworth

Escort RS Cosworth คือรถยนต์ที่ได้รับการถอดแบบมาจากรถแข่งแรลลี่ WRC ซึ่ง Ford ได้เข้าร่วมการแข่งขันในปี 1993-1998 นอกจากจะโดดเด่นในเรื่องของสมรรถนะจากเครื่องยนต์ 4-สูบ เทอร์โบ 230-แรงม้า รวมไปถึงระบบขับเคลื่อน 4-ล้อแบบฟูล-ไทม์แล้ว ...จุดเด่นที่สะดุดตาของรถคันนี้อยู่ที่สปอยเลอร์ทรง หางปลาวาฬ ที่มีแท่งซัพพอร์ตติดตั้งไว้ระหว่างสปอยเลอร์และฝากระโปรงท้าย

สปอยเลอร์หางปลาวาฬ รูปร่างประหลาดนี้ ถึงแม้ว่าจะมีชื่อเรียกที่ ตะมุตะมิ ไปสักหน่อย... แต่มันคือแอโรพาร์ทที่สามารถลดจุดอ่อนของ RS Cosworth ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดอ่อนที่ว่านี้ก็คือ แรงต้านอากาศ ซึ่งถือเป็น คำสาป ที่ติดตัวรถยนต์ประเภทแฮทช์แบคมาตั้งแต่กำเนิด ขณะเดียวกันนั้น สปอยเลอร์ประเภทนี้ ก็สามารถสร้าง แรงกด ได้อย่างมหาศาล

อันดับ 2 2017 Ford GT

Ford GT ไฮเปอร์คาร์สัญชาติอเมริกันที่ได้มีกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ตัวถังที่ได้รับการออกแบบให้ เป็นมิตร กับกระแสลม ทำให้รูปทรงของ Ford GT คันนี้ มีโพรงอากาศมากมาย ที่พร้อมจะลำเลียงกระแสลมให้ไหลผ่านไปอย่างราบเรียบ

หนึ่งในไฮไลท์ของ Ford GT คันนี้ อยู่ที่ สปอยเลอร์แบบแอคทิฟ (Active Spoiler) ที่มีรูปทรงเหมือนปีกเครื่องบินอย่างไม่มีผิด ถึงแม้จะมีรูปทรงที่เรียบง่ายและทว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก โดยตัว สปอยเลอร์ เองนั้น สามารถปรับตั้งความสูง และองศาการปะทะ (Angle of Attack) ได้อย่างอัตโนมัติ และที่ผมชอบที่สุดก็คือฟังก์ชั่น แอร์ เบรก (Air Brake) ซึ่งเป็นการปรับมุมปีกให้ตั้งชันที่สุด เพื่อสร้างแรงต้านอากาศสูงสุด ช่วยลดระยะเบรกและเพิ่มความเสถียรให้กับตัวรถขณะทำการเบรกด้วยความเร็วสูง

อันดับ 1 2016 Aston Martin DB11

ไหน ไหนวะ...สปอยเลอร์ ...มองหาเท่าไหร่ก็ไม่เห็นหรอกครับ เพราะว่า DB11 คันนี้ มาพร้อมกับ สปอยเลอร์ล่องหน

แรกเริ่มของการพัฒนา DB11 คันนี้นั้น ได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับ แอโรไดนามิคส์ นั่นก็คือว่า DB11 ไม่สามารถสร้าง แรงกด ที่ด้านหลังได้อย่างเพียงพอ... ซึ่งวิธีการง่ายที่สุด ที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ หา สปอยเลอร์ มาติดซะ แต่ทว่า ทีมนักออกแบบของ Aston Martin นั้น ไม่ต้องการให้มี แอโรพาร์ท มาปรากฎอยู่บนตัวรถแม้แต่ชิ้นเดียว และนี่ก็คือต้นกำเนิดของ สปอยเลอร์ล่องหน

วิธีการที่ทีมวิศวกรของ Aston Martin ใช้เพื่อสร้างแรงกดให้กับยางคู่หลังนั้น ก็คือการลำเลียงอากาศเข้าไปบริเวณเสา C ซึ่งอากาศจะไหลตามช่องทางที่ออกแบบไว้ และระบายออกมายังด้านบนของฝากระโปรงท้าย การไหลของอากาศในลักษณะนี้ ก็เหมือนกับหลักการทำงานของ สปอยเลอร์ อย่างไม่ผิดเพี้ยนแต่ประการใด เพราะเหตุนี้ ทำให้ DB11 สามารถสร้างแรงกดได้ โดยไม่ต้องติดตั้ง สปอยเลอร์ นั่นเองครับ

วิดีโอ แอโรไดนามิคส์และหลักการทำงานของ สปอยเลอร์ล่องหน ของ DB11

สำหรับบทความนี้ ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย แล้วค่อยมาเจอกันใหม่ในบทความหน้า โดยท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์หรือ บทความอื่นๆได้ที่ แฟนเพจ Joh's Autolifeได้เลยครับผม

เรียบเรียงโดยJoh Burut

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...