เรียบเรียงโดย Joh Burut
มาต่อกันเลยครับ กับบทความตอนที่ 3 ของ 10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง SuperGT ซึ่งก็ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วนะครับ ครั้งนี้จะเป็นการตอบคำถามของข้อ 7-10 ส่วนใครยังไม่ได้อ่านบทความตอนที่ 1 และ 2 สามารถคลิ๊กลิงค์ที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ
10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง Super GT (Part1/3)
10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง Super GT (Part 2/3)
คำถามข้อที่ 7 : ไฟแว๊บๆ สีแดงสีน้ำเงินที่อยู่ตรงกระจกหน้า...มันคืออะไร
ถ้าใครเคยสังเกตที่กระจกหน้าของรถแข่ง SuperGT จะเห็นไฟ LED เรียงกันเป็นเม็ดๆ มีทั้งสีแดงและสีน้ำเงิน เอ๊ะ! นั่นมันไฟหวอของรถตำรวจไม่ใช่เหรอ แล้วเอามาใส่ในรถแข่งทำไม
อันนั้นมันไม่ใช่ไฟตำรวจครับ... ความจริงก็คือว่า ไฟ LED สีแดงและสีน้ำเงิน มีไว้เพื่อบ่งบอกว่า ในตอนนี้ นักแข่งคนไหนที่กำลังขับอยู่นั่นเองครับ
ตามกติกาของการแข่งขัน SuperGT จะกำหนดไว้ว่า ในการแข่งขัน 1 เรซ จะต้องมีนักแข่งอย่างน้อย 2 คน เนื่องจากการแข่งขันในแต่ละเรซนั้น ใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้นักแข่งเกิดความเมื่อยล้า จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีนักแข่ง 2 คนนั่นเอง
ความหมายของไฟ LED สีแดง หมายความว่า ตอนนี้นักแข่งหมายเลข 1 กำลังขับอยู่ ส่วนสีน้ำเงินหมายถึงนักแข่งหมายเลข 2 นั่นเองครับ
นอกจากนั้นยังมีกฎอีกว่า นักแข่งแต่ละคนจะสามารถขับได้ไม่เกิน 2 ใน 3 ของระยะทางทั้งหมด สมมติว่าในเรซหนึ่งแข่งกันทั้งหมด 60 รอบสนาม นักแข่งคนแรกจะสามารถขับได้มากที่สุดคือ 40 รอบสนามเท่านั้นครับ จากนั้นก็ต้องเปลี่ยนเป็นนักแข่งหมายเลขสอง
คำถามข้อที่ 8: ตัวถังของรถแข่ง Super GT ทำมาจากอะไร
นอกจากเครื่องยนต์แรงม้าสูงแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รถแข่ง SuperGT วิ่งได้เร็วแบบสุดขั้วนั่นก็คือ ตัวถังน้ำหนักเบา ตัวถัง(Chassis)ของรถแข่ง Super GT มีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนด้านหน้า, ส่วนห้องคนขับ(Cockpit) และส่วนด้านหลัง
โดยปกติแล้ว ตัวถังด้านหน้าและด้านหลังจะถูกสร้างโดยใช้ท่อนเหล็กมาสานกันเป็นโครง เพื่อรับน้ำหนักของเครื่องยนต์และช่วงล่าง
ส่วนของห้องคนขับ หรือ Cockpit นั้นถูกสร้างมาจาก คาร์บอนไฟเบอร์ขึ้นรูป หรือที่เรียกว่า โมโนคอค(Monocoque) ซึ่งเป็นวัสดุที่เบามาก นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มความแข็งแรงด้วยท่อนเหล็กที่เชื่อมกันเป็น โรล เคจ (Roll Cage) ซึ่งมีน้ำหนักรวมกันเพียงแค่ 200 กิโลกรัมเท่านั้น!!
และตัวถังนำหนักเบาก็ถือเป็นหนึ่งในอาวุธลับที่ทำให้ SuperGT เป็นรถแข่งทางเรียบที่เร็วที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับรถที่วิ่งบนท้องถนนแล้ว รถแข่ง SuperGT จะมีน้ำหนักจะเบากว่าประมาณ 20% แต่มีความแข็งแรงกว่าหลายเท่าตัวเลยทีเดียวครับ
คำถามข้อที่ 9 : ทำไม วิง ของรถแข่ง GT500 มันถึงดูแปลกๆ
ผมเชื่อว่ามีท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยที่สังเกตเห็นถึง ความแปลก ของ วิง(Wing) ของรถแข่ง Super GT
มันแปลกยังไง ...มันแปลกตรงที่ว่า วิง ถูกยึดจาก ด้านบน(Upper-mounting) ซึ่งมันเป็นอะไรที่เราไม่คุ้นตาเลยแม้แต่น้อย โดยปกติแล้ว วิง ที่เราเคยเห็นโดยทั่วไป จะถูกยึดจาก ด้านล่าง(Lower-mounting) แล้วจะถ่ายทอด แรงกด(Downforce) ผ่าน ขายึดของวิง(Wing-supporters) ลงสู่บริเวณด้านท้ายของตัวรถ แต่สำหรับวิงของรถแข่ง Super GT แล้ว... มันไม่ได้เป็นแบบนั้น
วิง ที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ หมายถึง วิง ที่ติดตั้งอยู่บนรถแข่ง GT500 นะครับ เนื่องจากกติกาของรถแข่ง GT500 จะกำหนดให้รถแข่งทุกคันใส่ Aero-part ที่มีลักษณะเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ลิ้นหน้า(Splitter), กาบข้าง(Side skirt), ดิฟฟิวเซอร์(Diffuser) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Aero-part ที่ถือได้ว่าเป็น พระเอก ของเราในครั้งนี้ นั่นก็คือ วิง(Wing) หรือ หางหลัง นั่นเอง เค้ามีกฎไว้ว่าให้รถแข่งทุกคันใช้วิงที่มี ลักษณะ และ ขนาด เท่ากันทุกคัน เพราะเหตุนี้ วิง ของรถแข่ง GT500 ทุกคัน จึงมีลักษณะเหมือนกัน
วิงแบบนี้เรียกว่า "Swan-neck Wing" แปลเป็นไทยได้ว่า วิงคอหงส์ ที่มาที่ไปของชื่อนี้ ได้มาจาก ขายึดของวิง ที่ทำมุมโค้งเกือบจะ 180 องศา ซึ่งดูเผินๆแล้วก็เหมือน คอของหงส์ (Swan-neck) มันจึงถูกเรียกว่า วิงคอหงส์ ไปโดยปริยาย
วิงแบบคอหงส์จะสามารถสร้าง แรงกด ได้มากกว่าวิงแบบปกติที่มีขนาดเท่ากันครับ แต่ว่าจะมี "แรงต้านอากาศ" มากกว่านิดหน่อย อย่างไรก็ตาม แรงต้านอากาศ ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ถือว่าน้อยมาก จึงไม่ได้เป็นภาระของเครื่องยนต์ 500 แรงม้าแต่อย่างใด
หลักการของ วิงคอหงส์ นั้น ก็เหมือนกับหลักการของ วิงแบบปกติ ทุกประการ เพียงแต่ว่า วิงคอหงส์ นั้น สามารถลด จุดด้อย ของวิงแบบปกติ ทำให้มันมีประสิทธิภาพเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ถ้าจะพูดถึงหลักอากาศพลศาสตร์ของ วิง แล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้นคำว่า Wing Surface หรือ พื้นที่ของวิง โดยปกติแล้ว พื้นที่ของวิงจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ พื้นผิวด้านบน(Pressure Surface) และด้านล่าง(Suction Surface) หลักการก็คือว่า อากาศที่ไหลใต้ปีก(Suction Surface) จะมีความเร็วมากกว่าที่ไหลบนปีก(Pressure Surface)
การยึดปีกจากด้านล่างนั้น จะรบกวนการไหลของอากาศที่ใต้ปีก ซึ่งเป็นอากาศที่ไหลด้วย ความเร็วสูง ซึ่งถ้าจะให้ดี เราต้องยึดปีกจากด้านบน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศไหลด้วย ความเร็วต่ำกว่า
ถ้าจะพูดให้ง่ายๆก็คือว่า พื้นที่ใต้ปีก(Lower surface) เป็นบริเวณที่อากาศไหลด้วยความเร็วสูงมากๆ เราจึงไม่ควรเอาอะไรไปขวางทางมัน เพราะฉะนั้น วิธีการแก้ปัญหาก็คือ เราต้องยึดปีกจากด้านบน ซึ่งจะรบกวนต่อการไหลอากาศ น้อยกว่า เป็นผลให้สามารถสร้าง แรงกด ได้มากกว่านั่นเอง
(ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่อง วิงคอหงส์ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง Swan-neck wing : เจาะลึกวิงคอหงส์")
คำถามข้อที่ 10 : ทำไมที่ปัดน้ำฝนของรถแข่ง Super GT มันถึงตั้งขึ้นมาอย่างนั้น
เคยสังเกตไหมว่า รถแข่งทางเรียบในปัจจุบันนี้ถึงมีใบปัดน้ำฝนเพียงแค่อันเดียว และที่แปลกกว่านั้นก็คือว่า ใบปัดน้ำฝนของรถแข่งพวกนี้ แทนที่มันจะวางขนานไปแนวกระจก แต่ทำไมมันกลับ ตั้งฉาก ขึ้นมาอย่างนั้น ทำไมเหรอ มันมีเหตุผลอะไร
และคำตอบของคำถามข้างต้นก็คือ แอโรไดนามิคส์ อีกแล้วครับท่าน!!
ปกติแล้ว เราจะชินตากับใบปัดน้ำฝนที่ถูกวางขนานไปกับแนวกระจก แต่สำหรับใบปัดน้ำฝนของรถแข่ง SuperGT มันตั้งฉากขึ้นมา เหตุผลก็คือว่า การวางใบปัดน้ำฝนในแนวตั้งฉาก (vertical-up) นั้นเป็นตำแหน่งที่สร้าง แรงต้านอากาศ น้อยที่สุด เพราะว่ามันเป็นตำแหน่งที่ขวางทางลมน้อยที่สุดนั่นเอง
หา ใบปัดน้ำฝนมีผลกับแอโรไดนามิคส์ขนาดนั้นเชียวเหรอ
ใช่แล้วครับ สำหรับรถแข่งทางเรียบอย่าง SuperGT ที่สามารถทำความเร็วได้มากถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แอโรไดนามิคส์จึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ทุกอย่างที่สัมผัสกับอากาศจะต้องถูกออกแบบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่เว้นแม้แต่ใบปัดน้ำฝน เชื่อไหมว่าทีมแข่งบางทีมถึงกับต้องออกแบบใบปัดน้ำฝนในอุโมงค์ลมกันเลยทีเดียว
และประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการจับใบปัดน้ำฝนให้ชี้ขึ้นมานั้น ก็เพื่อเป็นการเพิ่มทัศนวิสัยให้กับนักแข่งนั่นเอง เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า สำหรับรถแข่งพวกนี้ ตำแหน่งที่นั่งของคนขับจะอยู่ต่ำมากๆ แน่นอนว่าถ้าเราวางใบปัดน้ำฝนในแนวขนานไปกับกระจก มันอาจจะไปบดบังทัศนวิสัยของนักแข่งโดยใช่เหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดี ก็จับมันตั้งขึ้นมาเลยดีกว่า
ก็จบครบถ้วนกระบวนความแล้วนะครับ สำหรับบทความเรื่อง 10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง SuperGT หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อย ถ้าหากยังมีคำถามหรือข้อสงสัยสามารถอินบ็อกซ์มาที่แฟนเพจได้เลยครับ และท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความและข่าวสารยานยนต์แบบเจาะลึกได้ที่แฟนเพจของเราได้เลยนะครับ
ภาพประกอบบทความ : www.supergt.net