เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ สำหรับทายาทตระกูล Type R ลำใหม่จาก Honda นั่นก็คือ Honda Civic Type R (FK8) ซึ่งใช้พื้นฐานของ Civic เจนเนอเรชั่นล่าสุด (Civic FC) มาพร้อมกับการอัพเกรดช่วงล่างใหม่แบบยกชุด ขณะเดียวกันนั้น เครื่องยนต์ก็ได้รับการปรับแต่งเพิ่มเติมจาก Civic Type R (FK2R) อยู่พอสมควร
คำถามแรกเลยก็คือ เราจะเรียกมันว่า ซีดาน หรือ แฮทช์แบค ดูด้านข้างก็ซีดาน สี่-ประตูดีๆ นี่เอง แต่ความจริงแล้ว สำหรับ Civic บอดี้นี้ ทางฝั่งยุโรปเค้าจะเรียกว่า แฮทช์แบค...เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ผมขอเรียกเจ้า Type R ลำใหม่ล่าสุดนี้ว่า FK8 แล้วกันนะครับ
และในวันนี้ ผมจะพาไปทำความรู้จักกับสมาชิกใหม่แห่งทายาท H-แดง เจนเนอเรชั่นที่ 5 ให้มากขึ้น โดยผมได้รวบรวม ข้อมูลเชิงเทคนิค ที่น่ารู้ทั้งหมด 5-ประการ ลองไปชมกันครับว่า จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง...
1. เครื่องบล็อคเดิม...เพิ่มเติมคือ 10-แรงม้า
Civic FK8 ได้หยิบยืมเครื่องยนต์มาจาก Civic FK2R แฮทช์แบคจระกูล Type R คันก่อนหน้านี้ โดยเครื่องยนต์ที่ใช้ใน FK8 คันนี้คือเครื่องรหัส K20C 4-สูบเรียง ความจุ 2.0-ลิตร เทอร์โบชาร์จเจอร์ สร้างกำลังได้ 316-แรงม้า (เครื่องยนต์ที่อยู่ใน FK2 สร้างแรงม้าได้ 306-แรงม้า)
ถึงแม้ว่า Civic FK8 จะใช้ยางหน้ากว้างกว่า FK2 นอกจากนั้นแล้ว ยังได้รับการอัพเกรดช่วงล่างด้านหน้าอย่างเต็มรูปแบบ แต่ทว่าแรงม้าที่เพิ่มขึ้นมานั้น มีเพียงแค่ 10-ตัวเท่านั้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง อย่างไรก็ตาม หัวหน้าโปรเจคของ Type R FK8 ซึ่งมีชื่อว่า คาคินุมะ (Kakunuma-san) ก็ได้เปิดเผยว่า แรงม้าจำนวน 316-แรงม้า ก็ถือว่าเหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานทั้งบนถนนและสนามแข่ง
2. FK8 มาพร้อมกับช่วงล่างหลังแบบ มัลติ-ลิงค์
ลาก่อน คานแข็ง ...
หลังจากที่รถยนต์แฮทช์แบคในตะกูล Type R ได้พยายามพิสูจน์สมรรถนะของช่วงล่างแบบคานแข็ง มาตั้งแต่แฮทช์แบคในบอดี้ FN2 และ FK2 และก็ดูเหมือนว่าการพยายามครั้งนั้น จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก สื่อรถยนต์ทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรป รวมไปถึงสาวกของตระกูล Type R เอง ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การใช้ช่วงล่างประเภท คานแข็ง ถือเป็นการ ตัดทอน สมรรถนะของรถตระกูล Type R ซึ่งเป็นอะไรที่ต้องแก้ไขโดยด่วน
บทความแนะนำ -5 เหตุผล - ที่ทำให้ผมชอบ FD2R มากกว่า FK2R
Civic FN2 Type R ช่วงล่างหลังแบบคานแข็ง
Civic FK2 Type R ช่วงล่างหลังแบบคานแข็ง
และแล้ว เสียงสะท้อนและฟีดแบ็คของสาวก H-แดง ทั่วโลกก็ได้รับการตอบรับเป็นที่เรียบร้อย นั่นก็เพราะว่า แฮทช์แบคลำล่าสุดอย่าง FK8 ได้บอกลาช่วงล่างแบบ คานแข็ง และหันไปใช้ช่วงล่างแบบ มัลติ-ลิงค์ โดยสมบูรณ์
3. FK8 มีแอโรไดนามิคส์ดีกว่า FK2
จากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว เห็นได้อย่างชัดเจนว่า FK8 มีมิติที่ เตี้ยและแบน กว่า FK2 อยู่พอตัวเลย ซึ่งข้อได้เปรียบตรงนี้ ทำให้ FK8 มีแอโรไดนามิคส์ที่ดีกว่า FK2 รวมไปถึงรถอื่นๆ ที่อยู่ในคลาสเดียวกัน ส่งผลให้ได้เปรียบในเรื่องของการทำความเร็วสูงสุด (Max Speed) รวมไปถึงสมรรถนะการควบคุมรถที่ความเร็วสูงอีกด้วย
ที่บริเวณ ท้ายตัด ของ FK8 ก็ได้รับการติดตั้งแอโรพาร์ทระดับตำนานอย่าง วอร์เท็กซ์ เจนเนอเรเตอร์ (ใครที่เป็นสาวก Lancer Evolution น่าจะคุ้นตากันดี) ซึ่งเป็นแอโรพาร์ทที่ช่วยจัดเรียงกระแสลมบริเวณกระจกหลัง เพื่อให้กระแสอากาศไหลลงมาที่สปอยเลอร์อย่างพอดิบพอดี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถสร้าง ดาวน์ฟอร์ซ (Downforce) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
วอร์เท็กซ์ เจนเนอเรเตอร์ ของ Lancer Evolution 9
4. FK8 มีฟังก์ชั่น Rev-Matching
FK8 มาพร้อมกับเกียร์อัตราทดชิด 6-สปีด พร้อมเฟืองเต็ดแบบกลไก (Mechanical Limited-slip) และทีเด็ดก็คือฟังก์ชั่น เรฟ-แมชชิ่ง (Rev-matching) ที่ช่วยเร่งรอบเครื่องยนต์ในจังหวะเปลี่ยนเกียร์ลงอย่างอัตโนมัติ (Down shifting)
บทความแนะนำ Rev-Matching คืออะไร สำคัญมากน้อยแค่ไหน
แต่สำหรับขาซิ่งที่ชอบทำ Rev-Match และ Heel & Toe ก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะว่าฟังก์ชั่นนี้ สามารถ เปิด-ปิด ได้ตามอัธยาศัยเลยครับ
บทความแนะนำ HEEL & TOE เทคนิคการเปลี่ยนเกียร์ระดับตำนาน
5. ท่อไอเสียแบบ 3-รู
หนึ่งในฟีเจอร์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดสำหรับ FK8 คันนี้ ก็คงหนีไม่พ้น ท่อไอเสียแบบ 3-รู ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้น หลายต่อหลายคน (รวมถึงตัวผมเอง) ก็ทึกทักเดาไปว่า ท่อไอเสียขนาเล็กตรงกลางนั้น คือท่อระบายไอเสียโดยตรง หรือที่เรียกว่าท่อระบาย เวทส์เกท (Waste gate) นั่นเองครับ โดยการจัดเรียงท่อไอเสียในลักษณะนี้ เคยปรากฎอยู่ในรถยนต์ซุปเปอร์คาร์สายพันธุ์อิตาเลียนอย่าง Ferrari F40
ท่อเอาเสียรูปทรงกลมของ F40 นั้น คือ เวทส์เกท เพื่อใช้ระบายไอเสียส่วนเกิน แต่สำหรับ FK8 นั้น มันซับซ้อนกว่าที่คิดไว้มาก...
คุณคาคินุมะ หัวหน้าโปรเจคของ FK8 คันนี้ ได้อธิบายไว้ว่า ท่อไอเสียตรงกลางนั้น ไม่ใช่ท่อระบาย เวทส์เกท แต่อย่างใด... แต่มันคือท่อไอเสียดีๆ นี่แหละครับ คำถามต่อมาก็คือว่า..ทำไมต้องมี 3-ท่อ ทำไมไม่ใช้ท่อคู่ หรือไม่ก็ 4-ท่อไปเลย
คุณคาคินุมะ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะรอบเดินเบา ปริมาณไอเสียจะพุ่งออกมาทั้งหมด 3-ท่อในปริมาณที่เท่ากัน แต่ในช่วงรอบกลาง-รอบสูง ความดันของท่อไอเสียตรงกลางจะมีค่าต่ำลง การทำเช่นนี้ จะช่วยลดระดับเสียงโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่เกิดขึ้นในห้องโดยสารหรือที่เรียกว่า บูมมิ่ง นอยส์ (Booming Noise) ผลลัพทธ์สุดท้ายก็คือ การทำให้เสียงเครื่องยนต์ไม่ดังจนเกินไป แต่ในขณะเดียวกันนั้น สมรรถนะของเครื่องยนต์ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
และนี่ก็เป็นข้อมูลเชิงเทคนิคที่ผมรวบรวมมาให้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านนะครับ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีข่าวแว่วๆ มาอีกว่า FK8 Type R จะมีการ แตกไลน์ ออกไปอีก โดยเวอร์ชั่นที่มาใหม่นั้น จะโหดและแรงกว่า Type R เวอร์ชั่นปกติ โดย Type R ตัวใหม่ จะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ที่มีพละกำลังมากกว่านี้ และคาดกันว่าน่าจะมาพร้อมกับแรงม้าระดับ 340-350-แรงม้า!!
ท่านผู้อ่านสามารถติดตามการอัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับ FK8 Type R ตัวใหม่ รวมไปถึงบทความยานยนต์อื่นๆ ได้ที่ แฟนเพจ Johs Autolife โดยตรงเลยครับ