เมื่อประมาณอาทิตย์ที่ผ่านนี้ เว็ปไซต์ยานยนต์ต่างประเทศได้เผยแพร่ภาพร่างของ ‘ซีเควนเชียล เทอร์โบ’ (Sequential Turbo) ซึ่งได้ทำการจดลิขสิทธิ์ไปหมาดๆ โดยเจ้าพ่อสายสันดาปอย่าง MAZDA นั่นเองครับ …ว่าแต่ว่า เทอร์โบแบบอนุกรมนี้ จะมีความพิเศษอย่างไร? และมันจะถูกนำไปใส่ในเครื่องยนต์อะไร? รถยนต์รุ่นไหน? ลองไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมกันครับ

ในขณะที่ค่ายรถยนต์เกือบทุกค่าย ได้หันเข็มทิศไปทางรถยนต์ไฟฟ้า และทุ่มทุนการพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเทียมไออน แต่ทว่า..MAZDA ยังคง ‘หมกมุ่น’ อยู่กับเครื่องยนต์น้ำมันอย่างเป็นบ้า-เป็นหลัง และใบจดสิทธิบัตรที่เป็นภาพร่างของ ‘ซีเควนเชียล เทอร์โบ’ ก็ถือเป็นหลักฐานที่ประจักษ์แล้วว่า MAZDA ยังคงไม่ถอดใจ และยังคงมีความเชื่อมั่นในการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปอย่างเต็มเปี่ยม...

ภาพร่าง - เทอร์โบ ซีเควนเชียล ที่ MAZDA จดสิทธิบัตร

 

จะว่าไปแล้ว เทคโนโลยี ‘ซีเควนเชียล เทอร์โบ’ หรือที่เรียกกันว่า ‘เทอร์โบอนุกรม’ นั้น เป็นเรื่องที่ ‘ล้าหลัง’ พอสมควร เพราะว่ามีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอดีต และ MAZDA เองก็เคยได้นำเอาเทอร์โบคู่ในลักษณะนี้ มาใช้กับ MAZDA 3 (FD3S) ซึ่งมาพร้อมกับเครื่องยนต์โรตารีในตำนาน 13B-REW ...แล้วคำถามก็คือว่า การนำเอาเทคโลยีที่ ‘ตกรุ่น’ มาใช้กับรถยุคใหม่นั้น มันก็เปรียบเสมือนเป็นการ ‘ถอยหลังลงคลอง’ หรือเปล่านะ?

ท่านผู้อ่านที่สนใจในเรื่องหลักการทำงานของเทอร์โบ และซุปเปอร์ชาร์จ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ศึกแห่ง บูสต์ : เทอร์โบ ปะทะ ซุปเปอร์ชาร์จ

 

เครื่องยนต์ 13B-REW (Sequential Turbocharger)

 

อย่างที่ผมได้เกริ่นไปตอนต้นแล้วว่า เทอร์โบอนุกรมที่ MAZDA เพิ่งจะจดลิขสิทธิ์นี้ ‘มีความพิเศษ’ และแตกต่างจากระบบเทอร์โบคู่โดยทั่วไป ว่าแต่...เทอร์โบคู่แบบใหม่ของ MAZDA จะมีข้อได้เปรียบอะไรบ้างนั้น... ผมได้สรุปจุดเด่นไว้เป็น 2-หัวข้อใหญ่ๆ ครับ

 

1. ซีเควนเชียล...คือคำตอบ

ถ้าเอ่ยถึง ‘เทอร์โบคู่’ แล้ว หลายๆ คนคงจะนึกถึงเครื่องยนต์ที่มีบูสต์มหาศาล ซึ่งภาพลักษณ์ดังกล่าวนั้น เป็นของเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ ที่มีเลย์เอาท์แบบ ‘ไบ-เทอร์โบ’ (Bi-turbo) นั่นเองครับ โดยจะมีการติดตั้งเทอร์โบ ‘ขนาดเท่ากัน’ เพื่ออัดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ให้ได้มากที่สุด ทำให้สามารถเค้นกำลังเครื่องยนต์ออกมาได้มากที่สุดนั่นเอง

 

แต่สำหรับ ‘ซีเควนเชียล เทอร์โบ’ จะเป็นการติดตั้งเทอร์โบทั้งหมด 2-ลูก ซึ่งมี ‘ขนาดต่างกัน’ และจะผลัดกันทำงานเพื่อให้เครื่องยนต์สามารถสร้างกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเทอร์โบขนาดเล็กจะทำหน้าที่สร้างบูสต์ในช่วงรอบเครื่องต่ำๆ เพื่อช่วยให้เครื่องยนต์ตอบสนองได้เร็วขึ้น (ลดเทอร์โบ-แล็ก) และในช่วงรอบสูงนั้น เทอร์โบลูกใหญ่จะปั่นอากาศปริมาณมหาศาลเข้าสู่ท่อไอดี ให้เพียงพอกับความต้องการของเครื่องยนต์ เป็นผลให้เครื่องยนต์สามารถตอบสนองได้เร็วในช่วงรอบต่ำ และมีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ในช่วงรอบสูง ซึ่งเป็นผลดีอย่างมากต่อสมรรถนะและอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

กลไกการทำงานของเทอร์โบอนุกรม (13B-REW)

 

สรุปง่ายๆ ก็คือว่า การวางเลย์เอาท์แบบ ‘ไบ-เทอร์โบ’ จะเน้นไปที่การสร้างแรงม้าสูงสุดเป็นหลัก แต่สำหรับ ‘ซีเควนเชียล เทอร์โบ’ จะเน้นไปที่อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน...ซึ่งผมมองว่า MAZDA มาถูกทางแล้วครับ

บทความแนะนำ – MAZDA ยำใหญ่ - จดสิทธิบัตรเครื่องยนต์แบบใหม่ ที่มาพร้อมกับเทอร์โบชาร์จเจอร์ 2-ลูก และซุปเปอร์ชาร์จเจอร์ (แบบไฟฟ้า) อีกหนึ่งลูก

 

2. เฮดเดอร์ขนาดกะทัดรัด

ถ้าเราสังเกตจากภาพร่างแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เฮดเดอร์ (ท่อร่วมไปเสีย) ของ MAZDA มีขนาดเล็กและกะทัดรัดมาก จนทำให้เทอร์โบทั้งสองลูก อยู่ใกล้จนแทบจะติดกัน ซึ่งข้อดีของการติดตั้งในลักษณะนี้ก็คือ ไอเสียจะสามารถไหลผ่านเทอร์โบลูกเล็ก และบายพาสไปยังเทอร์โบลูกใหญ่ได้อย่างทันที ช่วยลดรอยต่อของการสร้างบูสต์ เป็นผลดีโดยตรงต่ออัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

นอกจากนั้นแล้ว ด้วยขนาดกะทัดรัดของท่อร่วมไอเสีย ทำให้สามารถลดพื้นที่การติดตั้งไปได้ส่วนหนึ่ง ทำให้สามารถติดตั้งได้ในรถยนต์ที่มีห้องเครื่องขนาดเล็กได้

ภาพร่าง - เทอร์โบ ซีเควนเชียล ที่ MAZDA จดสิทธิบัตร

 

สำหรับรถยนต์ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับเกียรติเป็นหนูทดลองเครื่องยนต์ ‘ซีเควนเชียล เทอร์โบ’ ในครั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ามีโอกาสค่อนข้างสูงที่เครื่องยนต์ดังกล่าวนี้ จะไปประจำการอยู่ในรถยนต์ซีดานขนาดใหญ่ ที่ต้องการทั้งกำลังและความประหยัด ซึ่งเว็ปไซต์ต่างประเทศต่างลงความเห็นกันว่า ซีดานรุ่นใหม่นี้ อาจจะถูกพัฒนาโดยใช้พื้นฐานของ MAZDA VISION COUPE

ถือว่าเป็นแนวคิดที่สุดโต่งจริงๆ สำหรับ MAZDA ที่ยังไม่ยอมหมดศรัทธาให้กับเครื่องยนต์น้ำมัน และสุดท้ายแล้ว เครื่องยนต์ ‘ซีเควนเชียล เทอร์โบ’ เครื่องนี้จะคือเครื่องยนต์อะไร และจะไปประจำการในรถรุ่นไหน ก็คงต้องติดตามกันยาวๆ อีกทีครับ โดยท่านผู้อ่านสามารถติดตามความคืบหน้าได้โดยตรงที่ แฟนเพจ Joh’s Autolife ได้เลยครับผม

 

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...