เรียบเรียงโดยJoh Burut
ในที่สุด...โชคก็เข้าข้างผม เมื่อผมได้มีโอกาสขับทดสอบรถยนต์ทั้ง 3 คันที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์ดาวน์ไซส์-ซิ่ง และแน่นอนว่า หลังจากที่ได้ไปอยู่หลังพวงมาลัยของรถยนต์ทั้ง 3 คันนี้ ผมก็ไม่พลาดที่จะเขียนรีวิวสั้นๆ เพื่อแชร์ประสบการณ์การขับขี่ รวมไปถึงความคิดเห็นส่วนตัวต่อรถทั้ง 3 คันนี้
รีวิวที่ท่านผู้อ่านจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นรีวิวสั้นๆ แบบกว้างๆ เกี่ยวกับสมรรถนะการขับขี่ของรถยนต์แต่ละคัน ซึ่งผมคิดว่า รีวิวนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร และหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจากรถยนต์ทั้ง 3 คันนี้ครับ
1. Nissan SYLPHY DIG Turbo หมาป่าในคราบลูกแกะ
SYLPHY DIG Turbo เป็นรถที่มีอิมเมจเรียบร้อยมากๆ แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่สุดแสนจะธรรมดานั้น แฝงไว้ด้วยสมรรถนะที่ทรงพลังจากเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เทอร์โบชาร์จเจอร์ ซึ่งสามารถสร้างแรงม้าได้ถึง 190 แรงม้า ส่งผลให้มันคือซีดานที่น่าเกรงขามอีกคันหนึ่ง
นุ่มนวลอย่างมีสุนทรียะ สุขุมอย่างมีเลศนัย
ช่วงล่างนุ่มนวลอย่างมีระดับ ให้ความรู้สึกคล้ายๆ รถยนต์ยุโรป แต่ถึงแม้ว่าผมจะประทับใจกับช่วงล่างที่ถูกเซ็ทอัพมาอย่างพิถีพิถัน แต่ผมมองว่า จุดเด่นของซิลฟี่ DIG อยู่เครื่องยนต์ 190-แรงม้าต่างหาก ที่ทำให้ซีดานคันนี้โดดเด่นอย่างมีเอกลักษณ์
2. Honda CIVIC RS Turbo ที่สุดแห่งสมรรถนะการควบคุม
ดูจากภายนอกแล้ว Civic รุ่นใหม่นี้ มีมิติค่อนข้างเทอะทะ ไม่มีความทะมัดทะแมงอย่างที่ ซีวิคควรจะเป็น เอาเสียเลย...แต่หลังจากที่ผมได้ลองขับเจ้า Civic RS ผมก็อึ้งอยู่พักใหญ่!
ถึงแม้ว่า รูปทรงภายนอกจะดูใหญ่และกว้าง แต่ Civic คันนี้กลับตอบสนองต่อพวงมาลัยและคันเร่งได้อย่างเฉียบคม แบบนี้สิ! ถึงจะเรียกว่า ซีวิค ได้อย่างเต็มปาก พวงมาลัยไฟฟ้าถูกเซ็ทอัพมาแบบ คมกริบ อีกทั้งน้ำหนักของพวงมาลัยก็แปรผันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เครื่องยนต์เทอร์โบ 1.5-ลิตร และเกียร์ CVT อัจฉะริยะนั้น ก็สามารถตอบสนองได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว
บทความแนะนำ -คัมภีร์ VTEC : เจาะลึกระบบวาล์วแปรผันของเครื่องยนต์ HONDA
ช่วงล่างถูกเซ็ทอัพมาแบบสปอร์ต ส่งผลให้ในช่วงความเร็วต่ำนั้น ยังมีความกระด้างให้รู้สึกรำคาญนิดๆ แต่ในช่วงความเร็วสูงนั้น ซีวิคคันนี้มีความมั่นคงและเสถียรกว่ารถ C-segment คันอื่นๆ อย่างเจนจัด-ชัดเจน
3. Ford FOCUS EcoBoost นิยามของคำว่า ยนตกรรมอัจฉริยะ
ฟอร์ด โฟกัสรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ กลายเป็นรถยนต์ที่คนทั่วโลกจับตามองอีกหนึ่งคัน มันเป็นรถที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยนตกรรมที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยี นอกจากนั้น ยังมีระบบความปลอดภัยที่ไม่เป็นสองรองใครอีกด้วย
ส่วนตัวผมแล้ว ช่วงล่างของโฟกัสคันนี้เซ็ทอัพมาค่อนข้างดีครับ โดยเฉพาะที่ความเร็วต่ำๆ แต่ทว่าด้วยความที่เป็นบอดี้แบบแฮทช์แบค ส่งผลให้ในช่วงความเร็วสูงนั้น ความเสถียรในการขับขี่ลดลงไปอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับซิลฟี่และซีวิคที่มีตัวถังเป็นซีดาน
บทความแนะนำ -ความเหมือนที่แตกต่าง : VTEC Turbo ปะทะ EcoBoost
สิ่งที่ทำให้โฟกัสคันนี้โดดเด่นขึ้นมาในสังเวียนรถยนต์ C-segment ก็คือเทคโนโลยีที่ให้มาแบบเต็มพิกัดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นระบบช่วยจอดซึ่งอาศัยการประมวลผลมาจากเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่รอบคัน รวมไปถึงระบบช่วยเบรกอัตโนมัติเมื่อเจอสิ่งกีดขวางก็มีประโยชน์สำหรับการขับขี่ในเมืองมากๆ ครับ นอกจากนั้นยังมีระบบควบคุมแรงบิดในขณะเข้าโค้ง ซึ่งสามารถกระจายแรงบิดไปในล้อวซ้าย-ขวาได้อย่างสัมพันธ์และสมดุล
บทความแนะนำ -5 คู่ปรับตลอดกาล-แห่งวงการยานยนต์
เรียกได้ว่าแต่ละคันต่างมีจุดเด่นแตกต่างกันอย่างชัดเจนนะครับ และถึงแม้ในรีวิวนี้จะเป็นรีวิวกว้างๆ ไม่ได้มีการกล่าวข้อมูลเทคนิคในเชิงลึก ไม่ได้วิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอก-ภายใน แต่ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้เห็นถึงมุมมองใหม่ๆ จากรถทั้ง 3 คันนี้นะครับ
เร็วๆ นี้จะมีรีวิวเต็มรูปแบบ แต่จะเป็นรถคันไหนนั้น ติดตามได้ที่แฟนเพจ เลยครับผม
ขอบคุณครับ :)
ท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์หรือ บทความอื่นๆได้ที่ แฟนเพจของเราเลยครับผม