CONTINENTALS บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน ที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ได้เผยต้นแบบ ล้อและจานเบรก ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้กับ รถไฟฟ้า โดยเฉพาะ

ตัวล้อนั้น ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนทั้งหมด 3-ชิ้น ประกอบเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ ขอบล้อ, ก้านล้อ และจานเบรก ที่แปลกก็คือว่า จานเบรกแบบใหม่นี้ ถูกยึดเข้ากับก้านล้อโดยตรง และตัวคาลิปเปอร์เอง ก็ถูก ตีลังกา-กลับหัว อย่างน่าประหลาด

CONTINENTALS เผยว่า ล้อแบบใหม่นี้ ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานคู่กับระบบเบรกที่เรียกว่า Regenerative Braking (รีเจนเนอเรทีฟ เบรกกิง) ซึ่งใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด ...ว่าแต่ว่า ระบบเบรกแบบนี้คืออะไร แล้วล้อแบบใหม่นี้ มันมีข้อได้เปรียบตรงไหน ไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมกันครับ

รู้จักกับระบบเบรกแบบ Regenerative Braking

ปกติแล้ว รถยนต์ไฟฟ้า 100% รวมไปถึงรถยนต์ไฮบริด จะมีระบบเบรกที่เรียกว่า Regenerative Braking (รีเจนเนอเรทีฟ เบรกกิง) โดยขณะที่คนขับทำการเหยียบเบรกเพื่อชะลอความเร็ว ตัวรถจะถูกหน่วงให้ช้าลงด้วย ตัวปั่นไฟ (Alternator/Regenerator) โดยตัวปั่นไฟนี้ จะเปลี่ยนแรงเฉื่อยของรถให้เป็นพลังงานไฟฟ้าและชาร์จกระแสไฟกลับเข้าไปยังแบตเตอรี่ แต่สำหรับในกรณีที่คนขับต้องการเบรกแบบฉับพลัน-กะทันหัน เบรกแบบปกติซึ่งถูกติดตั้งไว้ที่ดุมล้อ จะช่วยสร้างแรงเบรกเพื่อช่วยชะลอความเร็วอีกแรงหนึ่ง

เนื่องจากว่า ระบบเบรกแบบ Regenerative Braking (รีเจนเนอเรทีฟ เบรกกิง) จะถูกใช้งานทุกครั้งของการเบรก นั่นส่งผลให้เบรกแบบปกติ (ติดตั้งไว้ที่ดุมล้อ) มีบทบาทลดลงอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ส่งผลให้ผ้าเบรกและจานเบรกของรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าปกติ ยกตัวอย่างเช่น ระบบเบรกของ TOYOTA PRIUS นั้น มีอายุการใช้งานมากถึง 150,000 กิโลเมตรเลยทีเดียว

ปัญหาสนิมเกาะจานเบรกของรถยนต์ไฮบริด

แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือว่า เนื่องจากเบรกแบบปกติมันไม่ค่อยได้ยืดเส้น-ยืดสายเท่าไหร่ ผลเสียที่เกิดขึ้นก็คือ สนิม นั่นเองครับ ใช่แล้ว...เบรกของรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด จะเป็นสนิมเร็วมากๆ ซึ่งส่งผลให้เบรกทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ ในขณะที่คนขับเหยียบเบรกในกรณีฉุกเฉิน

CONTINENTALS จึงได้แก้ปัญหาเรื่องสนิมและการกัดกร่อน โดยการเปลี่ยนไปใช้จานเบรกที่ทำมาจากวัสดุประเภทอะลูมิเนียม นอกจากจะไม่เกิดสนิมแล้ว ยังมีน้ำหนักที่เบากกว่า แถมยังระบายความร้อนได้ดีกว่าอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ CONTINENTALS ได้ติดตั้งคาลิปเปอร์ไว้ ฝั่งใน ของจานเบรก โดยวัตถุประสงค์ของการทำเช่นนี้ ก็เพื่อที่เพิ่มสมรรถนะของการเบรกนั่นเองครับ

หลักการก็คือว่า เมื่อจับเอาคาลิปเปอร์ มายัด ไว้ที่ฝั่งในของจานเบรกแล้ว เราก็จะสามารถออกแบบให้จานเบรกมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก เมื่อจานเบรกมีขนาดใหญ่แล้ว ก็จะสามารถสร้างแรงเบรกได้เพิ่มขึ้นนั่นเองครับ (หลักการเดียวกับการแต่งรถนั่นแหละครับ ยิ่งจานใหญ่ ยิ่งหยุดเร็ว)

และนี่ก็คือต้นแบบของล้อและเบรกแห่งอนาคตที่ CONTINENTALS อ้างว่า จะสามารถผลิตและนำมาใช้จริงในเร็ววันนี้ ส่วนรถยนต์ค่ายไหนจะได้เป็นหนูทดลองตัวแรกนั้น ก็คงต้อยดูกันไปยาวๆ ครับผม และท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์ หรือ บทความอื่นๆ ได้ที่ แฟนเพจ Joh's Autolife ได้เลยครับผม

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...