เหล็กกันโคลง ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนของช่วงล่างที่มีบทบาทสำคัญในแง่ของสมรรถนะการขับขี่ หน้าที่ของเหล็กกันโคลงนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุมการถ่ายเทน้ำหนักและความเสถียรของตัวรถ โดยฝั่งเมืองนอกเค้าจะเรียกเหล็กตัวนี้ว่า Anti-roll Bar หรือบางทีก็เรียก Sway Bar รวมไปถึง Stabilizer Bar ถ้าหากท่านผู้อ่านได้พบเจอคำเหล่านี้ ก็ขอให้เข้าใจตรงกันว่ามันก็คือ เหล็กกันโคลง นี่แหละครับ

 

เหล็กกันโคลง..คืออะไร

เหล็กกันโคลง คือชิ้นส่วนของช่วงล่างที่มีลักษณะเป็นแท่งเหล็ก เชื่อมระหว่างล้อด้านซ้ายและล้อด้านขวา มีทั้งแบบที่ติดตั้งมาจากโรงงาน รวมไปถึงแบบที่เป็นอุปกรณ์เสริม สามารถติดตั้งได้อย่างตรงรุ่น โดยไม่ต้องดัดแปลงแต่อย่างใด

 

เหล็กกันโคลง..มีหน้าที่อะไร

ก็ตามชื่อมันเลยครับ เหล็กกันโคลงก็มีหน้าที่ ลดอาการโคลง ของตัวรถ หรือที่รู้จักกันว่า Body Roll นั่นเอง ซึ่งอาการโคลงของตัวรถ จะเกิดขึ้นขณะที่เราเข้าโค้ง การเปลี่ยนเลนแบบรวดเร็ว รวมไปถึงการขับขี่บนพื้นที่มีระดับไม่เท่ากัน

การโคลงของตัวรถ จะทำให้เกิดการถ่ายน้ำหนักซ้าย-ขวา ส่งผลให้ยางทั้งสองข้างไม่สามารถสร้างแรงยึดเกาะได้อย่างเท่ากัน ดังนั้น เหล็กกันโคลง ช่วยลดอาการโคลงของตัวลด ทำให้การถ่ายเทน้ำหนักลดลง ทำให้ตัวรถยังคงเสถียรภาพไว้ได้ และยังทำให้ยางสามารถแรงยึดเกาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เหล็กกันโคลงของ Ford Mustang GT

 

และสำหรับบทความนี้ เราก็จะไปทำความรู้จักกับ เหล็กกันโคลง ให้มากขึ้นไปอีก โดยในบทความนี้ ผมได้ทำการทดสอบและรีวิว เหล็กกันโคลงหลังแบบ ฟูล-เซ็ท จากสำนัก Rigid Collar Prodyออกแบบมาสำหรับรถช่วงล่างคานแข็งโดยเฉพาะ (Torsion Beam Suspension หรือที่รู้จักกันในชื่อ คานบิด) และเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงหน้าที่ของกันโคลงตัวนี้ ผมก็จะขออนุญาตสาธยายถึงหลักการทำงานของช่วงล่างแบบคานแข็งแบบรวบรัดก่อนนะครับ

 

ว่าด้วยเรื่อง...ช่วงล่างคานแข็ง

ในปัจจุบันนั้น รถยนต์ขนาดเล็ก-กลาง ที่ขับเคลื่อนด้วยล้อหน้า ล้วนแล้วมาพร้อมกับช่วงล่างหลังแบบ คานแข็ง (Torsion Beam) นอกจากจะทำหน้าที่ซับแรงกระแทกอย่างเช่นช่วงล่างประเภทอื่นๆ แล้ว ช่วงล่างแบบ คานแข็ง ยังมีหน้าที่หนึ่ง ที่น้อยคนนักจะรู้ นั่นก็คือว่า ช่วงล่างคานแข็ง ทำหน้าที่เป็นเหมือน เหล็กกันโคลง ด้วยเหตุผลที่ว่า คาดแข็งนั้นสามารถ ให้ตัว (Bending) และสามารถ หมุนบิด (Twisting) ได้ มันจึงเปรียบเสมือนเป็นเหล็กกันโคลงดีๆ นี่เองครับ

เอ้า...ถ้าอย่างงั้น ช่วงล่างคานแข็ง ก็ไม่ต้องใส่เหล็กกันโคลงสิ

ท่านผู้อ่านหลายคนน่าจะเกิดคำถามข้างต้น... จริงอยู่ที่ว่า ช่วงคานแข็งนั้น เปรียบเสมือนกับว่ามี เหล็กกันโคลง ติดตั้งมาให้ตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ทว่าช่วงล่างแบบคานแข็งก็ยังคงมี 'ความแข็ง' (Stiffness) ไม่เพียงพอ หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่า มันยังมีอาการโคลงอยู่นั่นเองครับ จึงทำให้รถยนต์ที่ใช้ช่วงล่างแบบคานแข็งบางรุ่น ได้ทำการติดตั้งเหล็กกันโคลงมาให้ตั้งแต่โรงงาน

รถยนต์คานแข็งบางรุ่น มีการติดตั้งกันโคลงหลัง มาตั้งแต่จากโรงงาน (แท่งสีเขียว)

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่ากันโคลงที่ติดตั้งมาให้จากโรงงานนั้น มีขนาดเล็กมาก มันจึงไม่สามารถลดอาการโคลงตัวได้เท่าที่ควร และด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ จึงเป็นจุดกำเนิดของเหล็กกันโคลงฟูล-เซ็ท ที่เราจะทำการทดสอบและรีวิวแบบจัดเต็มกันในวันนี้ เอาล่ะครับ...เริ่มแรกเลย ผมว่าเราไปดูชิ้นส่วนของกันโคลงชุดนี้กันดีกว่าครับ

 

รายละเอียดของชุดกันโคลง

ในชุดกันโคลงนั้น ก็จะประกอบไปด้วย...

1. เหล็กกันโคลง

ทำจากวัสดุเหล็กสปริงแท้ ที่มีความเป็นสปริงสูง เป็นเหล็กเกรดเดียวกันกับเหล็กที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เลือกใช้ เส้นผ่านศูนย์กลาง 22-มิลลิเมตร ทำจากวัสดุประเภท มีความยืดหยุ่น

 

2. บูชยางกันกระแทก

บูชยางสำหรับกันโคลงชุดนี้ มีให้เลือกทั้งหมด 2-แบบ ครับผม โดยจะมีบูชยางดำ ซึ่งจะนุ่มกว่า และให้ตัวได้มากกว่า และอีกแบบก็คือ บูชยูรีเทน ซึ่งจะแข็งกว่า แต่ก็ไม่มีความกระด้าง ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ขับขี่

 

3. แผ่นยึดใต้ฐานสปริง

ทำจากเหล็กรีดร้อนชนิดพิเศษ ใช้น็อตยึดกับฐานสปริงโดยตรง ซึ่งในรูปเป็นดีไซน์แบบเก่า ปัจจุบันได้เปลี่ยนดีไซน์เป็น L-shape ตัวเล็กและติดตั้งง่ายกว่าเดิม ผ่านการทดสอบการรับน้ำหนักและวิเคราะห์มาเรียบร้อยครับ

ดีไซน์แบบเก่า

 

ดีไซน์แบบใหม่

 

4. C-clamp ยึดคานแข็ง

ถูกออกแบบมาให้สามารถประกบกับคานแข็งได้อย่างพอดี C-clamp จะมีรูปร่างแตกต่างกันออกไปสำหรับรถแต่ละรุ่น นอกจากนั้น U-bolt ยังได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้ารูปกับคานของรถยนต์รุ่นนั้นๆ อย่างแนบสนิท ทำให้การยึดมีความมั่นคงมากขึ้น

 

การติดตั้ง

และสำหรับกันโคลงหลังแบบฟูล-เซ็ท ที่เรากำลังทดสอบกันอยู่นี้ ก็จะมีคู่มือการติดตั้งมาให้อย่างเสร็จสรรพ ทั้งขั้นตอนการติดตั้ง, ตำแหน่ง และระยะการเซ็ทอัพของจุดยึดต่างๆ ทำให้เราสามารถติดตั้งเองได้อย่างง่ายดายเลยครับ หรือไม่ก็ยกชุดกันโคลง ไปให้ร้านช่วงล่างใกล้ๆ บ้านติดตั้งให้ ก็สะดวกรวดเร็วดีครับ

 

 

สำหรับรถที่เป็นหนูทดลองในวันนี้ ก็คือ Honda Jazz GE 2013 ซึ่งเป็นรถของผมเอง โดยคันนี้ได้มีการอัพเกรดช่วงล่างเป็นแบบสตรัทปรับเกลียวทั้ง 4-ต้น และวันนี้ เราก็ได้ติดตั้งกันโคลงแบบฟูล-เซ็ท โดยใช้บูทที่คุณดี้เลือกมาให้นั้น เป็น บูชยูรีเทน (บูชสีแดง) ซึ่งจะมีความแข็งที่มากกว่า และเหมาะสำหรับรถที่มีการปรับแต่งช่วงล่างมาแล้ว

การติดตั้งใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก็เสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้น คุณดี้ได้ปรับเซ็ทระยะจุดยึดให้เหมาะสม (ระยะของจุดยึด ถูกระบุไว้ในคู่มือการติดตั้ง ซึ่งจะให้มาพร้อมกับชุดกันโคลง) จุดยึดทุกจุดดูแข็งแรงแน่นหนาดี ทุกชิ้นส่วนออกแบบมาแบบพอเหมาะพอดี ไม่มีขาดไม่มีเกิน ทำให้สามารถทำการติดตั้งได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

 

 

รุ่นรถที่สามารถติดตั้งได้

TOYOTA HONDA  NISSAN MAZDA
 Vios Gen 1-3  Jazz GD, GE, GK  March  Mazda 2 Sedan
 Yaris Gen 1-2  Brio, Brio Amaze  Almera  Mazda 2 Hatchback
 Altis Gen 1-3  City 07-13  Note  Mazda 2 SkyActiv Sedan
 Sienta  Mobilio  Juke  Mazda 2 SkyActiv Hatchback
 C-HR  BR-V  Cube  Mazda CX-3
   Freed  Pulsar  
   HR-V  Tiida  
     Sylphy  

 

MITSUBISHI FORD SUZUKI
 Mirage  Fiesta Sedan  Swift
 Attrage  Fiesta Hatchback  Ciaz
     Ertiga

 

การทดสอบ

เอาล่ะครับ เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราก็จะเริ่มทำการทดสอบกันเลย โดยการทดสอบที่ผมวางแผนเอาไว้ จะแบ่งเป็น 2-ประเภท นั่นก็คือ การทดสอบที่ความเร็วต่ำและความเร็วสูง

 

วิดีโอ การติดตั้งและการทดสอบกันโคลงหลัง แบบฟูล-เซ็ท สำหรับรถช่วงล่างคานแข็ง

 

1. Low-speed Test (การทดสอบที่ความเร็วต่ำ)

สำหรับการทดสอบที่ความเร็วต่ำนั้น ความเร็วในการทดสอบอยู่ที่ 25-35 กม/ชม ผมได้ทำการขับรถเป็นวงกลมเพื่อรักษาค่า แรง G (แรงเหวี่ยงหนีศูนย์) ให้มีค่าคงที่ โดยเราจะทดสอบที่ค่า G = 0.3 และ 0.5 ซึ่งจะทำการขับในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา (เลี้ยวซ้าย) รวมไปถึงตามเข็มนาฬิกา (เลี้ยวขวา) และจะทำการเปรียบเทียบอาการโคลงตัวของรถทั้งก่อน-และ-หลัง ติดตั้ง โดยเราจะวัด Body-Roll จาก ความสูง ระหว่างหน้ายางและซุ้มล้อหลัง

 

 

ผลการทดสอบที่ Low-speed

ผลการทดสอบออกมาเป็นที่น่าพอใจมากครับ สำหรับการขับที่ G = 0.3 นั้น พบว่าอาการโคลงตัวลดลงพอสมควร แต่สำหรับการขับที่ G = 0.5 อาการโคลงตัวของรถ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด (สามารถดูผลทดสอบได้ที่วิดีโอ รีวิวและทดสอบ เหล็กกันโคลงหลัง แบบฟูล-เซ็ท)

 

2. High-speed Test (การทดสอบที่ความเร็วสูง)

ส่วนการทดสอบที่ความเร็วสูงนั้น ความเร็วในการทดสอบอยู่ที่ 80-110 กม/ชม โดยผมได้แบ่งการทดสอบออกเป็น 2-ส่วน ได้แก่การเข้าโค้งที่ความเร็วสูง (100-110 กม/ชม) และการหักหลบแบบฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่า สลาลม (80 กม/ชม)

 

 

ผลการทดสอบที่ High-speed

สำหรับผลการทดสอบที่ความเร็วสูงนั้น เป็นไปอย่างที่ผมคิดไว้ตั้งแต่แรก นั่นก็คืออาการโคลงตัวลดลงค่อนข้างชัดเจนโดยคนขับสามารถรับรู้ได้ถึงความเสถียรที่เพิ่มขึ้น-ตัวรถนิ่งขึ้น แต่ที่ผมประทับใจมากที่สุดก็คือ การเปลี่ยนเลนแบบฉุกเฉิน (สลาลม) ซึ่งผมได้ทำการทดสอบที่ 80 กม/ชม ก่อนติดตั้งกันโคลงนั้น ตัวรถมีอาการโคลงอย่างมาก ทำให้ยางฝั่งในไม่สามารถสร้างแรงยึดเกาะได้ ภาระเกือบทั้งหมดจึงตกไปอยู่ที่ยางฝั่งนอก จนกระทั่งเกินลิมิตของแรงยึดเกาะที่สร้างได้ (ยางร้อง) จะกระทั่งรถเริ่มเกิดอาการอันเดอร์เสตียร์

แต่หลังจากที่ใส่กันโคลงแล้ว อาการของรถนั้น เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยอาการโคลงตัวนั้น ลดลงอย่างมาก อาการอันเดอร์แทบจะไม่มีให้เห็น และถึงแม้ว่ายางยังมีเสียงร้องอยู่ แต่ก็รู้สึกได้ว่าเรายังสามารถควบคุมรถได้อย่างมั่นคง และมีบางจังหวะที่เกิดอาการโอเวอร์เสตียร์นิดๆ ซึ่งอาการโอเวอร์สเตียร์ที่เกิดขึ้นนี้ หมายความว่ากันโคลงสามารถทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะเหตุนี้ สำหรับการทดสอบสลาลม ผมถือว่ากันโคลงสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมหาศาลครับ (สามารถดูผลทดสอบได้ที่วิดีโอ รีวิวและทดสอบ เหล็กกันโคลงหลัง แบบฟูล-เซ็ท)

 

รีวิวการใช้งาน

หลังจากที่ได้ทำการทดสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมก็ได้ทดลองใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นระยะทางรวมกว่า 1,000 กิโลเมตร ทั้งการขับขี่ในเมือง บนทางด่วน รวมไปถึงทางขรุขระ ผลปรากฏว่า ตัวรถมีความมั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าโค้งที่ความเร็วสูง แต่สำหรับการขับขี่ความเร็วต่ำในตัวเมืองนั้น เทียบเห็นความแตกต่างได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นครับ

 

 

และเนื่องจากว่า ทุกจุดในการยึดติดตั้งกันโคลงนั้น ได้มีการใช้บูชยางมารองรับแรงกระแทก ทำให้ไม่เกิดความกระด้างทั้งการขับขี่ที่ความเร็วต่ำและความเร็วสูง นอกจากนั้นแล้ว บริเวณจุดยึดเอง ก็ได้รับการติดตั้งอย่างแน่นหนา ทำให้ไม่เกิดเสียงดังรบกวนแต่อย่างใด

 

เอาล่ะครับ สุดท้ายนี้ เราก็จะมาสรุปแบบรวบรัดกันอีกทีหนึ่ง... โดยรวมแล้ว ผมคิดว่ากันโคลงตัวนี้ เหมาะสำหรับรถยนต์ 2-ประเภทด้วยกัน

ประเภทแรกก็คือ รถบ้าน-คานแข็ง ที่โดยมาแล้ว สปริงโรงงานจะเซ็ทมาค่อนข้างสูง ทำให้ตัวรถเกิดอาการโคลงได้ง่าย และถึงแม้ว่า รถยนต์บางรุ่นจะมีการติดตั้งกันโคลงมาให้ตั้งแต่โรงงาน แต่มันก็เป็นเพียงกันโคลงขนาดเล็ก จึงไม่สามารถลดบอดี้-โรลได้มากเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่อยากจะลดอาการโคลงตัวของรถ เพิ่มความมั่นใจในการเข้าโค้ง รวมไปถึงเพิ่มความสามารถในการควบคุมรถขณะทำการเปลี่ยนเลนแบบกะทันหัน กันโคลงแบบฟูล-เซ็ทชุดนี้...คือคำตอบครับ

ประเภทที่สองก็คือ รถกึ่งสตรีท ที่ได้รับการปรับแต่งช่วงล่างมาบ้างแล้ว กันโคลงชุดนี้ จะช่วยลดบอดี้-โรลขณะเข้าโค้งด้วยด้วยความเร็วสูง นอกจากนั้นยังช่วยรักษาการกระจายน้ำหนักขณะทำการโยกเปลี่ยนเลนแบบทันที เป็นผลให้สามารถดึงเอาสมรรถนะของยางออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ตัวรถมีความเสถียรมากขึ้น เหมาะมากครับ สำหรับคนที่ชอบ โยน-ไม่-ยก (โยนโค้งแบบไม่ยกคันเร่ง 55+) ...จัดไปอย่าให้เสียครับ!

ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้าและราคา รวมไปถึงรุ่นรถที่ติดตั้งได้ โดยตรงที่ Fanpage : Rigid Collar Prodyหรือโทร 086-621-1077

 

ขอขอบคุณ

พี่ดี้ Rigid Collar Prody

พี่เอก Magic Collar

พี่พีท Minna Garage

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...