เรียบเรียงโดยJoh Burut

บทความนี้สนับสนุนโดยMotys Thailand

ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นยอดฮิตเกี่ยวกับรถยนต์ก็ว่าได้นะครับ สำหรับ น้ำมันเครื่อง ของรถยนต์ ซึ่งมีให้เลือกใช้มากมายหลากหลายยี่ห้อ หลายเกรด จนทำเอาคนใช้รถอย่างเราๆ เลือกไม่ถูกเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเภทของน้ำมันเครื่อง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ได้รับการถกเถียงอยู่เรื่อยมา...

บ้างก็ว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ดีที่สุด (Fully Synthetic) บ้างก็ว่าน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ใช้แล้วคุ้มที่สุด (Semi-synthetic Oil) บ้างก็อนุรักษ์นิยมใช้น้ำมันเครื่องแบบธรรมดาชนิดที่ว่าไม่แคร์โลกกันเลยทีเดียว (Conventional Oil)

และในบทความนี้ ผมก็จะพาไปทำการเปรียบเทียบน้ำมันเครื่องทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ น้ำมันเครื่องแบบธรรมดา, กึ่งสังเคราะห์ และสังเคราะห์แท้ ...น้ำมันเครื่องแต่ละแบบจะมีจุดเด่น-จุดด้อยอย่างไรบ้าง ไปร่วมหาคำตอบได้ในบทความนี้เลยครับ... แต่ก่อนอื่น ผมว่าเราไปทำความรู้จักกับหน้าที่ของน้ำมันเครื่องกันก่อนดีกว่า

หน้าที่ของน้ำมันเครื่อง

หลายๆ คนเข้าใจว่า น้ำมันเครื่อง มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว นั่นก็คือ หล่อลื่นชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ แต่ความจริงแล้ว การหล่อลื่นนั้น เป็นเพียงหนึ่งในหน้าที่ของน้ำมันเครื่องเพียงเท่านั้นครับ

น้ำมันเครื่องแต่ละชนิด ให้ประสิทธิภาพในการปกป้องและหล่อลื่น ไม่เท่ากัน

น้ำมันเครื่องนั้นมีบทบาทมีหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ลดการสึกหรอของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ นอกจากนั้น การไหลเวียนของน้ำมันเครื่องภายในเครื่องยนต์ ยังช่วยลดความร้อนให้กับชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งน้ำมันเครื่องบางตัวยังได้รับการผสมสารทำความสะอาดเครื่องยนต์ (Cleaning Agents) รวมไปถึงช่วยลดการเกิดสนิมภายในเครื่องยนต์ด้วย (Anti-rust Additives)

เพราะฉะนั้น การที่เราจะพิจารณาว่าน้ำมันเครื่องตัวไหนดีที่สุด จึงต้องพิจารณาคุณสมบัติให้ครอบคลุมทุกประการ เพื่อให้เราสามารถเลือกน้ำมันเครื่องที่คุ้มค่าที่สุด และเหมาะกับการใช้งานของเรามากที่สุดนั่นเองครับผม

น้ำมันเครื่องธรรมดา, น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ และ น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์...แบบไหนดีกว่ากัน

ก่อนที่เราจะไปเปรียบเทียบข้อได้เปรียบของน้ำมันเครื่องแต่ละประเภท ผมว่าเรามาทำความเข้าใจ โครงสร้าง ของน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดกันก่อนดีกว่าครับ

ปกติแล้ว น้ำมันเครื่องที่เราคุ้นเคยกันจะสามารถแบ่งออกตามกรรมวิธีการผลิตได้ทั้งหมด 3 ชนิดครับ ซึ่งได้แก่ น้ำมันเครื่องธรรมดา (Conventional Oil), น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ (Synthetic Oil) และน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi-synthetic Oil)

ถึงแม้จะมีกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน ทว่าน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดนั้น จะมี ส่วนผสมหลัก ที่เหมือนกัน นั่นก็คือ Base Oil และ Additives (น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน และ สารเติมแต่ง) โดยที่น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Oil) ของน้ำมันเครื่องทั้ง 3 ชนิดนั้น จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณสมบัติหลักของน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดครับ ส่วนสารเติมแต่งนั้น ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวน้ำมันเครื่องอีกต่อหนึ่ง ซึ่งแต่ละยี่ห้อ แต่ละเจ้า เค้าก็จะมีสูตรของสารเติมแต่งที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้สามารถตอบสนองการกับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน

น้ำมันเครื่องธรรมดา (Conventional Oil)

น้ำมันเครื่องธรรมดา จะมี Base Oil เป็นน้ำมันซึ่งได้จากการกลั่นจากน้ำมันดิบ หรือที่เรียกว่า Mineral Oils (มิเนอรัล ออยล์) พูดง่ายๆ ก็คือเป็นน้ำมันที่ได้มาจากธรรมชาติ 100% นั่นเองครับ และเนื่องจากว่า Base Oil ของน้ำมันเครื่องประเภทนี้ เป็นน้ำมันจากธรรมชาติล้วนๆ เพราะฉะนั้น โมเลกุลของน้ำมันประเภทนี้จึงมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงกายภาพและก็เชิงเคมีด้วยครับ

น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ (Fully Synthetic Oil)

น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ โดยที่น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานของน้ำมันเครื่องประเภทนี้จะได้มาจากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี หรือพูดง่ายๆ ว่า ได้มาจากในห้องแล็ปนั่นแหละครับ เพราะฉะนั้น ในระหว่างกระบวนการสังเคราะห์ เราจึงสามารถเพิ่มคุณสมบัติบางอย่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวน้ำมันเครื่องได้อย่างอิสระ

ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันเครื่อง Motys M110 ซึ่งใช้ Base Oil ที่มาจากสารเอสเตอร์แบบสังเคราะห์พิเศษช่วยเพิ่มการยึดเกาะให้กับน้ำมันเครื่อง ถึงแม้จะทำงานภายใต้อุณหภูมิที่สูงมากๆ น้ำมันเครื่องก็ยังสามารถยึดเกาะกับชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์ เพื่อคงประสิทธิภาพการหล่อลื่นให้ได้มากที่สุดนั่นเองครับ

น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi-synthetic Oil)

น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Synthetic Blends (ซีนเตติค เบลนด์) เป็นน้ำมันเครื่องที่ใช้ Base Oil แบบผสม ซึ่งประกอบไปด้วย Base Oil จากการสังเคราะห์ และ Base Oil ที่กลั่นจากน้ำมันดิบ ส่วนอัตราการผสมนั้น ก็แตกต่างกันไปตามยี่ห้อและเกรดของน้ำมันเครื่องครับผม ซึ่งโดยมากแล้วจะผสม Base Oil แบบสังเคราะห์ลงไปเป็นปริมาณมากกว่า 30%

และด้วยเหตุผลในเรื่องของราคาที่ถูกกว่าน้ำมันสังเคราะห์แท้ และประสิทธิภาพการใช้งานที่ค่อนข้างคุ้มค่า ทำให้น้ำมันเครื่องประเภทกึ่งสังเคราะห์ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้

เอาล่ะครับ...หลังจากที่เราได้รู้ถึงโครงสร้างของน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดแล้ว ต่อไปเราก็จะมาเปรียบเทียบกันเป็นหัวข้อๆ ไป เราไปเริ่มกันเลยในหัวข้อของ สมรรถนะการหล่อลื่น

1. สมรรถนะการหล่อลื่น (Lubrication Performance)

เนื่องจากว่า โมเลกุลของน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ได้ถูกคัดกรองให้แต่ละโมเลกุลมีขนาดเท่ากัน และถูกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ ส่งผลให้มีสมรรถนะหล่อลื่นที่เหนือกว่าทั้งในอุณหภูมิต่ำและอุณหภูมิสูง

ซ้าย : จำลองโมเลกุลของน้ำมันเครื่องแบบธรรมดา

ขวา : จำลองโมเลกุลของน้ำมันเครื่องสังเคราะห์

ในทางตรงกันข้าม โมเลกุลน้ำมันเครื่องแบบธรรมดาซึ่งได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ จะมีขนาดของโมเลกุลที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ทำให้น้ำมันเครื่องประเภทนี้มีสมรรถนะการหล่อลื่นที่ด้อยกว่านั่นเองครับ แต่สำหรับน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์นั้น จะมีสมรรถนะการหล่อลื่นที่เหนือกว่าแบบธรรมดา แต่ด้อยกว่าแบบสังเคราะห์แท้ครับผม

2. ความเสถียรของความหนืด (Viscosity Stability)

คุณสมบัติที่สำคัญอีกหนึ่งประการของน้ำมันเครื่องทุกประเภทนั่นก็คือ ความหนืด (Viscosity) นั่นเองครับ ซึ่งปกติแล้วจะ ความหนืด ของน้ำมันเครื่องควรจะมีค่าที่เหมาะสม ซึ่งแตกต่างกันไปสำหรับเครื่องยนต์แต่ละแบบ โดยที่ความหนืดของน้ำมันเครื่องจะต้องไม่มากเกินไป (หนืดมาก เครื่องยนต์จะอืดและกินน้ำมัน) และไม่น้อยเกินไป (หนืดน้อย จะส่งผลให้เกิดการสึกหรอเพิ่มขึ้น)

แล้วจะทราบได้อย่างไร...ว่ารถของเรา ต้องใช้น้ำมันเครื่องที่มีความหนืดเท่าไหร่

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านกำลังเกิดคำถามข้างต้นอย่างแน่นอน ความจริงแล้ว เนื่องจากว่าเครื่องยนต์แต่ละเครื่องนั้น มีสมรรถนะและลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นแล้ว เราจึงควรใช้น้ำมันเครื่องที่มีความหนืดตามที่ผู้ผลิตเครื่องยนต์แนะนำ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ

แต่ถ้าหากเป็นเครื่องยนต์ที่ได้รับการโมดิฟายมา ไม่ว่าจะโมดิฟายแบบเบาๆ ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนกรองอากาศ ขัดพอร์ต เปลี่ยนเฮดเดอร์ หรือจะโมดิฟายแบบหนักๆ อย่างเช่น เปลี่ยนแคมชาฟท์ ดันบูสต์ ใส่กล่องซิ่ง ถ้าหากเป็นแบบหลังนี้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันเครื่องแต่ละตัว แล้วจึงเลือกน้ำมันเครื่องที่เหมาะสมและครอบคลุมกับการใช้งานของเครื่องยนต์ จึงจะสามารถเรียกสมรรถนะของเครื่องยนต์ออกมาได้มากที่สุดครับ

(สำหรับหลักเกณฑ์เบื้องต้นเกี่ยวกับรายละเอียดในการเลือกซื้อน้ำมันเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์เครื่องเดิม หรือรถยนต์ที่ได้รับการโมดิฟาย ผมจะมาเล่าให้ฟังในบทความถัดๆ ไป โดยท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ที่ แฟนเพจ Johs Autolifeเลยครับผม)

กราฟแสดงความเสถียรของความหนืด (Viscosity Index)

จะเห็นว่าน้ำมันเครื่องทั้ง 6 ตัวนี้ มีค่า ความหนืด ที่เท่ากัน

แต่ทว่ามีค่า ดัชนีความหนืด (Viscosity Index - VI) ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

นอกจากค่าความหนืดแล้ว เรายังต้องพิจารณา ความเสถียรของความหนืด (Viscosity Stability) ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของความหนืดซึ่งเกิดจากเปลี่ยนแปลงอุณหภูมินั่นเองครับ โดยค่าที่บ่งบอกถึงความเสถียรก็คือค่า Viscosity Index, VI (วิสคอสซิตี อินเด็กซ์ หรือ VI) เรียกอีกอย่างว่า ดัชนีชี้วัดความหนืด นั่นเอง ซึ่งถ้าหากมีค่ามากเท่าไหร่ ก็หมายความว่า น้ำมันเครื่องตัวนั้น ยังรักษาความหนืดได้อย่างดีถึงแม้อุณหภูมิจะเปลี่ยนไปก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ค่า VI จะเป็นตัวแปรสำคัญในการบ่งบอกความเสถียรของความหนืด แต่ถึงกระนั้น ก็ยังต้องพิจารณาคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบด้วย เพราะถึงแม้น้ำมันเครื่องจะมีค่า VI มาก ซึ่งหมายความว่าความหนืดจะยังคงที่แม้อุณหภูมิสูง แต่ทว่าคุณสมบัติอย่างอื่นๆ ก็อาจจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำมันเครื่องมีประสิทธิภาพด้อยลงนั่นเองครับ

ปกติแล้ว น้ำมันเครื่องสังเคราะห์จะมีค่า VI มากกว่าน้ำมันเครื่องแบบธรรมดา รวมไปถึงน้ำมันเครื่องแบบกึ่งสังเคราะห์ด้วยครับ ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันเครื่อง Motys M110 (5W30)ซึ่งเป็นน้ำมันเครื่องที่เน้นความหลากหลายในการใช้งาน สามารถรองรับตั้งแต่การขับขี่ในสภาพถนนทั่วไป จนถึงรถแข่งสมรรถนะสูงที่ได้รับการปรับแต่งเครื่องยนต์อย่างเต็มรูปแบบ โดยน้ำมันเครื่องอเนกประสงค์ M110 ตัวนี้มีค่าดัชนีความหนืดมากถึง 165 ซึ่งถือว่า เสถียร มากๆ เลยครับ

3. ความสามารถในการปกป้อง ณ อุณหภูมิสูง (Severe-service Protection)

สำหรับน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้นั้น ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำงานในย่านอุณหภูมิสูงจัด รวมไปถึงอุณหภูมิต่ำจัด ทำให้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์สามารถรักษาคุณสมบัติต่างๆ ไว้ได้อย่างครบถ้วน

แต่สำหรับน้ำมันเครื่องแบบธรรมดาและกึ่งสังเคราะห์แล้ว ถ้าเกิดว่าอุณหภูมิของน้ำมันเครื่องสูงเกินไปแล้ว โมเลกุลของน้ำมันเครื่องจะเกิดการแตกตัว ส่งผลให้ความสามารถในการปกป้องเครื่องยนต์ลดลงอย่างมากนั่นเองครับ ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งสำหรับเครื่องยนต์ที่มีอุณหภูมิสูงๆ เช่น เครื่องยนต์เทอร์โบ รวมไปถึงเครื่องยนต์ที่ได้รับการโมดิฟายอย่างเต็มรูปแบบ

รถแข่งสมรรถนะสูงที่ต้องใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูงตลอดเวลา ก็เจาะจงเลือกใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้

4. ราคา

เนื่องจากว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้นั้น เป็นการสังเคราะห์โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อดัดแปลงโมเลกุลและเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ ให้กับ Base Oil ประกอบกับการคัดกรองเอาโมเลกุลที่ไม่บริสุทธิ์ออกไป ซึ่งกรรมวิธีปรุงแต่งน้ำมันอย่างพิถีพิถันนี้ ส่งผลให้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าเกือบทุกด้าน เพราะฉะนั้น น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ จึงมีราคาแพงที่สุดครับ รองลงมาจะเป็นน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ และน้ำมันเครื่องแบบธรรมดาจะมีราคาถูกที่สุดครับ

บทสรุป

เนื่องด้วยความสามารถในการปกป้อง ประกอบกับความเสถียรของความหนืด ทำให้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ กลายมาเป็นตัวเลือกของผู้ใช้รถยนต์อย่างกว้างขวาง รวมไปถึงรถยนต์ที่ได้รับการปรับแต่งเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะโมดิฟายเบาหรือหนัก แม้กระทั่งในวงการมอเตอร์สปอร์ตเองก็เลือกใช้น้ำมันเครื่องประเภทนี้อย่างแพร่หลาย

น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้สามารถเรียกใช้สมรรถนะของเครื่องยนต์ได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการปกป้องชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่ได้แล้ว ถือว่าเป็นการลงทุนที่ คุ้มค่า มากครับ

ด้วยสมรรถนะของน้ำมันเครื่องประเภทสังเคราะห์แท้

ทำให้ได้รับความนิยมในรถยนต์สมรรถนะสูง รวมไปถึงวงการมอเตอร์สปอร์ต

สำหรับท่านผู้อ่านที่ ในการเปลี่ยนน้ำมันครั้งต่อไปก็ควรพิจารณาสามารถนำข้อเท็จจริงในบทความนี้ ไปประกอบการตัดสินใจได้อย่างเต็มที่เลยครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าลืมศึกษาคู่มือรถยนต์ของท่านเอง ว่าสามารถใช้น้ำมันประเภทไหนได้บ้าง ใช้แบบสังเคราะห์แท้ได้หรือไม่ รวมไปถึงควรจะมีค่าความหนืดเท่าไหร่

สำหรับบทความนี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อย และท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์หรือ บทความอื่นๆได้ที่ แฟนเพจ Joh's Autolifeได้เลยครับผม

เรียบเรียงโดยJoh Burut

บทความนี้สนับสนุนโดย Motys Thailand

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...